ศาสตร์ของการรักษา ความเจ็บปวด (2) ยุคปฏิวัติ มอร์ฟีน อีเธอร์ โคเคน ผ่าตัด
อัพเดทล่าสุด: 31 ม.ค. 2025
หมอเก่าเล่าเรื่อง มาต่อกันที่ตอนที่ 2 เราจะมาเจาะกันที่สารที่ใช้เป็นยาระงับความเจ็บปวดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเรียนรู้ผลกระทบข้างเคียงไปด้วยกัน
ฝิ่น และสารสกัด มอร์ฟีน เฮโรอีน กับการนำมาใช้รักษาการเจ็บปวด
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://painmanagementcollaboratory.org/pain-management-history-timeline/
https://www.britannica.com/science/pain
https://omegapaindoctor.com/blog/history-of-pain-management/
ฝิ่น และสารสกัด มอร์ฟีน เฮโรอีน กับการนำมาใช้รักษาการเจ็บปวด
- การใช้ฝิ่นเป็นที่นิยมนำมาใช้เป็นยาครอบจักรวาล ในสมัยวิคตอเรียมีการนำฝิ่นมาผสมกับแอลกอฮอลล์ หญ้าฝรั่น ผงซินนามอน กานพลู และเหล้าเชอรรี่ที่ปรุงโดย โธมัส ซีดเดนแฮมนำมาใช้เป็นยาครอบจักรวาลตั้งแต่รักษาปวดฟัน ท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดท้อง ไข้หรือแม้กระทั่งทำให้เด็กนอนหลับไม่ร้องงอแง
- มีการค้นพบกลไกการออกฤทธิ์ของฝิ่นเมื่อต้นศควรรษที่ 19 เภสัชกรชาวเยอรมันชื่อ เฟดริค วิลเฮล์ม อดัม เฟอร์ดินาน เซอทูนเนอร์ สามารถแยกสารที่ทำให้นอนหลับที่เรียกว่ามอร์ฟีนจากดอกฝิ่นในปีคศ.1805 มอร์ฟีนนี้ตั้งชื่อมาจากเทพเจ้าแห่งการนอนหลับของชาวกรีกที่ชื่อ มอร์เฟียส

เฟดริค วิลเฮล์ม อดัม เซอทูนเนอร์
- ค.ศ. 1840 บริษัท เมิร์ก ในเมืองดัมสตาทด์ ประเทศเยอรมันได้เริ่มผลิตมอร์ฟีนเป็นครั้งแรกในเวลาใกล้เคียงกับการผลิตเข็มและหลอดฉีดยา จึงทำให้การใช้มอร์ฟีนแพร่หลายมากขึ้น นอกจากใช้รับประทานแล้วยังนำมาฉีดเข้าใต้ผิวหนังด้วย
- มีการนำมอร์ฟีนมาใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ ผิดวัตถุประสงค์ โดยไม่มีการควบคุม ในช่วงสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา มีทหารจำนวนมากติดมอร์ฟีน
- ค.ศ. 1874 ชาลส์ แอดเลอร์ ไรท์ ทำการสังเคราะห์ มอร์ฟีนได้สารที่ชื่อว่า ไดอะซิทิล มอร์ฟีนที่ช่วยลดอาการไอมากขึ้นแต่ช่วยลดการปวดน้อยลง 14ปีต่อมาบริษัทยาไบเออร์ของเยอรมันจดทะเบียนสารนี้ในชื่อว่า เฮโรอีน โดยไบเออร์โฆษณาว่า เฮโรอีน จะช่วยลดอาการไอได้ดีกว่ามอร์ฟีนและไม่มีฤทธิ์เสพติด แต่ไม่เป็นความจริง เฮโรอีนยังคงฤทธิ์เสพติดโดยเป็นปัญหาใหญ่ในสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นเฮโรอีนยังนำมาใช้ได้ทั้ง สูบ สูดดม รับประทาน ฉีด ทำให้ต้องออกกฎหมายควบคุมให้ใช้เฮโรอีน ฝิ่น มอร์ฟีนตามใบสั่งยาของแพทย์เท่านั้น
- เมื่อมีการพัฒนาวิธีการสังเคราะห์สารดีขึ้น มอร์ฟีนได้ถูกนำมาสกัดได้เป็นสารต่างๆอีกหลายชนิด ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้มีการสังเคราะห์ เมธาโดน ขึ้นมาแทนการใช้ มอร์ฟีนในประเทศเยอรมันและได้นำมาใช้รักษาคนที่เสพติดมอร์ฟีน
- ค.ศ. 1953 พอล แจนเซนได้สกัดสารที่มีชื่อว่า เฟนตานีล ซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่ามอร์ฟีน 40 เท่า
- ค.ศ. 1970 มีการค้นพบตัวรับสารมอร์ฟีนที่บริเวณ ซับสแตนเชียล เจลาติโนซา และสมองส่วนที่รับรู้ต่อความเจ็บปวด
- หลังปี ค.ศ. 1983 ได้คิดสารตัวใหม่ให้ระงับอาการปวดจากโรคเรื้อรัง เช่น มะเร็ง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้ดีขึ้นมาก
- แผ่นเฟนตานีล ติดที่ผิวหนังถูกนำมาใช้เมื่อ ปี 1991 พบว่าได้ผลดีและมีความปลอดภัยในการใช้ยาสูง จากนั้นมา เฟนตานีลได้ถูกนำมาใช้ในหลายรูปแบบนอกจากซึมผ่านผิวหนังแล้ว ใช้อม ใช้สูด ก็ได้
อีเธอร์และคลอโรฟอร์ม กับการนำมาใช้รักษาการเจ็บปวด
- สารตัวอื่นที่ถูกนำมาระงับปวดคือ อีเธอร์ โดยทันตแพทย์ชื่อ วิลเลียม โธมัส กรีน มอร์ตันนำมาใช้กับผู้ป่วยที่ได้รับการถอนฟัน
- 16 ตุลาคม 1846 มีการสาธิตการผ่านตัดเนื้องอกของเส้นเลือดที่ต้นคอของชายหนุ่มที่ชื่อ กิลเบิร์ต แอบบอท เมื่อสิ้นสุดการผ่าตัดซึ่งจบลงด้วยดี จอห์น ซี วอร์เรนหัวหน้าคณะแพทย์ผ่าตัดได้กล่าวกับบรรดาแพทย์ที่เข้าชมการสาธิตว่านี่ไม่ใช่การหลอกลวง
- 21 ธันวาคม 1846 การผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในอังกฤษที่โรงพยาบาลยูนิเวอร์ซิตี้ คอลเลจ ลอนดอน
- นายแพทย์โรเบิร์ต ลิสตันให้ผู้ป่วย วิลเลียม สไคว ดม อีเธอร์ ระหว่างการผ่าตัดเอาขาออกที่ระดับเหนือหัวเข่า
- 8 พฤศจิกายน 1847 เซอร์ เจมส์ ยัง ซิมป์สัน นำคลอโรฟอร์มมาใช้ระงับความเจ็บปวดในการคลอดบุตร อย่างไรก็ดีมีการคัดค้านอย่างรุนแรงตามความเชื่อของศาสนาว่าความเจ็บปวดในการผ่าตัดหรือการคลอดเป็นสิ่งดีที่ช่วยกระตุ้นความรู้สึกของผู้ป่วย แต่ท่านเซอร์ ซิมป์สัน แย้งว่า พระเจ้านั่นแหละที่ทำให้อดัมซึ่งเป็นมนุษย์ชายคนแรกที่พระองค์สร้างถูกทำให้หลับก่อนที่พระองค์จะตัดกระดูกซี่โครงของเขาออก เป็นเรื่องราวตามคัมภีร์
- จอห์น สโนวเป็นผู้ศึกษาเรื่องคลอโรฟอร์มอย่างจริงจังและได้ประดิษฐ์เครื่องมือที่นำคลอฟอร์มมาใช้กับ ควีนส์ วิคตอเรียในการประสูติของเจ้าหญิงเบียทริส จากนั้นมามีการนำคลอโรฟอร์มมาใช้กันอย่างแพร่หลายจนกระทั่งศตวรรษที่ 19 พบว่าคลอโรฟอร์มมีผลข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตมากกว่าเมื่อเทียบกับการใช้อีเธอร์

สมเด็จพระนางเจ้า วิคตอเรีย และ เจ้าหญิงเบียทริส
- อีเธอร์หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ ไนตรัส ออกไซด์ได้รับขนานนามว่า ก๊าซหัวเราะ นอกจากนำมาใช้เป็นสารระงับปวดขณะผ่าตัดแล้วยังถูกนำมาใช้ในการสันทนาการตามงานเลี้ยงหรือในสวนสนุกอีกด้วย
แอสไพริน
ป้ายโฆษณาแอสไพริน ถึงสรรพคุณแก้ไมเกร็น และปวดรูมาตอยด์ ปี 1923 จาก Wikimedia Commons.
- ยาตัวใหม่ที่ไม่ได้สังเคราะห์จากฝิ่นแต่สกัดมาจากเปลือกไม้ของต้นหลิวซึ่งในยุคโบราณนำมาใช้ลดไข้ เมื่อนำมาสกัดโดย เภสัชกรชาวฝรั่งเศส เอช เลอรองซ์ ในปี คศ 1829 เรียกชื่อว่า ซาลิคไซลิค แอซิดและมีการรายงานว่าสามารถนำมาใช้ลดอาการปวดได้
- ในปี คศ 1876 ดร. โซโลมอนได้ให้ผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์กิน พบว่าภายใน 48 ชั่วโมงอาการบวม แดง ปวดข้อนั้นหายไป และในปีเดียวกัน แอล ฮอฟแมนนำมาใช้กับผู้ป่วยที่ปวดเส้นประสาทบริเวณใบหน้าและจากเชื้อเริมอย่างได้ผล
- ค.ศ. 1852 มีการสังเคราะห์ได้สาร อะซิทิล ซาลิไซลิค แอซิดและ เฟริค ฮอฟแมน ได้พบว่ามันสามารถระงับอาการปวดได้ข้อดีของมันคือผลข้างเคียงจากการคลื่นไส้ อาเจียน น้อยกว่า ซาลิไซลิค แอซิดมากทีเดียว
เภสัชกรชื่อ ไฮนริช เดรสเซอร์ ตั้งชื่อ อะซิทิล ซาลิไซลิค แอซิด นี้ว่า แอสไพริน
ค.ศ. 1982 เซอร์จอห์น อาร์ เวน ได้พบว่าแอสไพรินและกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ถูกนำมาใช้ ลดไข้ ลดการอักเสบ แก้ปวดได้ด้วยกลไกยับยั้งการสร้างสาร พรอสตากแลนดิน อย่างไรก็ตามยากลุ่มนี้ทีผลข้างเคียงต่อทางเดินอาหารค่อนข้างมากกล่าวคือทำให้ระคายเคืองหรือเกิดเป็นแผลกระเพาะ อาหาร ลำไส้ จึงได้มีการพัฒนายากลุ่มน้ีให้ลดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ได้เป็นซิลีเบลค ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน

ป้ายโฆษณาโคเคนสำหรับใช้ระงับอาการปวดฟัน www.rarehistoricalphotos.com (ผ่านการเสนอของ https://omegapaindoctor.com/blog/history-of-pain-management/ )
- กลางศตวรรษที่ 17 นัก ธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส โจเซฟ เดอ จูซอง ได้นำต้นโคคาเข้าสู่ยุโรป มีการสกัดสาร อีลิดทร็อคไซลิน จากใบโคคาในปี 1855 โดยเฟดริค เกดเค 5 ปีต่อมา อัลเบิร์ต ไนแมนได้แยกสาร โคเคน จากต้นโคคาได้สำเร็จ
- ค.ศ. 1862 บริษัท เมิร์ค ได้ผลิต โคเคนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน คศ 1865 แองเจลโล มาริอานี ได้ผลิตไวน์ที่ผสมโคเคนเรียกว่า วิน มาริอานี เป็นท่ีนิยมในหมู่นักดื่มมาก โดยมีโป๊ปลีโอที่ 13 และดาราชาวฝรั่งเศส ซาร่า เบอร์นาท ดื่มเป็นประจำและบอกว่าช่วยให้ร่างกายและสมองสดชื่นขึ้น
ซิกมันด์ ฟลอยด์ บิดาแห่งจิตเวชศาสตร์ได้ตีพิมพ์เรื่องของโคคาในปี คศ 1884 ว่าโคคาช่วยในการรักษาโรคเบื่ออาหาร รักษาอาการติดมอร์ฟีน ลดความต้องการทางเพศที่สูงเกินไปและใช้เป็นยาชาได้ เพื่อนของฟลอยด์ที่ชื่อ คาร์ล คอลเลอร์ ได้ทำการทดลองใช้โคเคนในการผ่าตัดแก้วตาของกบและสัตว์หลายชนิดซึ่งได้ผลดี มีการตีพิมพ์ผลงานการทดลองในวารสารตา ไฮเดลเบิร์ก เมื่อวันที่ 15 กันยายน 1884 หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ โคเคนได้ถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดตากับคนในนิวยอร์ค
สองสัปดาห์ต่อมาศัลยแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ วิลเลียม สจ๊วต ฮัลสเตท ได้ทำการฉีดโคเคนเข้าที่เส้นประสาทเพื่อลดการปวดขณะผ่าตัด แต่โชคไม่ดีที่ยังไม่ได้ข้อสรุปตัวเขาเองและทีมการทดลองทุกคนกลับติดโคเคนเสียเอง - ค.ศ. 1885 เจมส์ เลนนาร์ด แพทย์ระบบประสาทได้ใช้โคเคนฉีดเข้าไขสันหลังเพื่อระงับปวดจากการผ่าตัด ช่วงเวลานั้นบริษัทพาร์ค เดวิส ของเมืองดีทรอยด์ อเมริกา ผลิตโคเคนออกมาขายในรูปแบบต่างกันถึง 8 ชนิด บุหรี่ผสมโคเคนใช้ช่วยรักษาการติดเชื้อในลำคอ จอห์น สทีต เพ็มเบอตัน ได้ผสมสารสกัดจากใบโคคากับถั่วโคลาจากอัฟริกาซึ่งมีคาเฟอินอยู่แล้วเติมนำ้หวานเข้าไปทำเป็นผลิตภัณฑ์น้ำดื่มที่ชื่อ โคคา โคลา ออกมาขาย แต่ก็ถูกองค์กรอาหารและยาของอเมริกา กดดันจนต้องถอดโคคาออกจาก โคคา โคลา
- ในปี 1906 เฮอร์เบิร์ต สโนว์ ศัลยแพทย์ชาวอังกฤษเป็นแพทย์คนแรกที่นำโคเคนมารักษาผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บปวดจากโรคมะเร็ง โดยใช้โคเคนผสมกับฝิ่นให้กับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายแล้วได้ผลดีกว่าการให้ยาเพียงชนิดเดียว จากการค้นพบนี้จึงได้มีการผสม มอร์ฟีนกับโคเคนด้วยแอลกอฮอล์หวานและอาจเติมฟีโนไธอาไซนเล็กน้อยเพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียน
- ค.ศ. 1898 ศัลยแพทย์ ออกัส ไบเออร์ ชาวเยอรมันและผู้ช่วย ออกัส ไฮเดอบลันท์ ตีพิมพ์บทความเรื่อง การให้โคเคนในไขสันหลัง บรรยายถึงการให้โคเคนเข้าไขสันหลังในผู้เข้ารับการทดลอง 6 คน รวมตัวผู้ทำการทดลองและผู้ช่วยด้วย พบว่าหลังการให้ยาทุกคนมีอาการปวดศีรษะและคลื่นไส้ อาเจียนมาก และในปี 1908 เขาได้เร่ิมใช้มอร์ฟีนฉีดเข้าหลอดเลือดดำเพื่อระงับปวด หนึ่งปีต่อมามีรายงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกของการฉีดมอร์ฟีนเข้าไขสันหลังโดย รูดอล์ฟ มาทาส
- ต้นศตวรรษที่ 20 มีความก้าวหน้าในการผลิตยาชาเฉพาะที่มากขึ้นเรื่อยๆ มีการสังเคราะห์โคเคนจนได้ สารตัวใหม่ โปรเคน โดย อัลเฟรด ไอฮอนในปี 1905 ตัวยาอื่นที่ผลิตตามมาในปี 1943 คือ ลิโดเคน โดยลอฟเกรนท์และลุนควิสท์
ตามมาด้วยปี 1950 บิวพิวาเคน เมพิวาเคน พริโลเคน และ เอทิโดเคนในปี 1970
ค.ศ. 1990 มีการนำ โรพิวาเคน มาใช้ซึ่งให้ผลระงับปวดได้ดีโดยไม่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและมีพิษต่อหัวใจน้อยกว่า
วิธีการรักษาโดยใช้หัตถการและผ่าตัดเส้นประสาท
- ค.ศ. 1914 แคปปิส และ เวนดริงค์ในปีคศ 1918 รายงานถึงวิธีการฉีดยาเข้าที่กลุ่มสายใยประสาทซีลีแอค
- ในปี 1946 อันสโบรได้ฉีดยาชาผ่านทางผิวหนังเข้าสู่กลุ่มสายใยประสาท ที่บริเวณเหนือไหปลาร้า
- ค.ศ. 1888 โรเบิร์ต แอบบี้และ เบนเนต ใช้การผ่าตัดรากประสาทช่วยรักษากลุ่มอาการปวด
ค.ศ. 1905 วิลเลี่ยม จี สปิลเลอร์ และ เอ็ดเวิร์ด มาร์ติน พบว่าความรู้สึกเจ็บปวดส่งผ่านส่วนหน้าของไขสันหลังและได้ทำการผ่าตัดส่วนนี้เพื่อลดการเจ็บปวดที่เกิดจากมะเร็งที่เป็นที่ก้นขบได้ผลเป็นอย่างดี มาร์ตินกล่าวว่า การผ่าตัดนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ได้รับความทรมานจากอาการเจ็บปวดมากๆแล้วใช้ยาระงับปวดไม่หายเท่านั้น
การควบคุมอาการเจ็บปวดด้วยตัวผู้ป่วยเอง
- ค.ศ. 1964 เจมส์ สก๊อต ให้หญิงที่กำลังจะคลอดบุตรบริหารยาแก้ปวดด้วยตัวเองด้วย ยา เมพเพอริดีน
ต่อมาได้เริ่มใช้วิธีนี้กับผู้ป่วยหลังผ่าตัดหรือปวดจากโรคมะเร็งด้วยเฟนตานิลหรือเมพเพอริดีน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://painmanagementcollaboratory.org/pain-management-history-timeline/
https://www.britannica.com/science/pain
https://omegapaindoctor.com/blog/history-of-pain-management/
Tags :
บทความที่เกี่ยวข้อง
ย้อนกลับไปชมเหตุการณ์ที่ ไทเกอร์ วูดส์ ราฟาเอล นาดาล และเนยมาร์ เกิดเหตุปวดหลังระหว่างแข่งขัน ภาพวันนั้นเป็นอย่างไร เขาผ่านมาได้อย่างไร และเขามีการรักษาอย่างไร
25 ก.พ. 2025
เมื่อการรักษาความเจ็บปวดพัฒนาขึ้น จึงมีหน่วยงาน การบัญญัติหลักการต่างๆขึ้นมา สถาบัน หลักปฎิบัติ คู่มือการดูแล
30 ม.ค. 2025
ประวัติศาสตร์ แห่งการรักษาความเจ็บปวด ที่เชื่อเรื่อง ภูติผี ปิศาจ วิญญาน และพระเจ้า ในยุคที่ยังไม่มีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความเจ็บปวด
30 ม.ค. 2025