แชร์

ปวดใบหน้าเรื้อรัง เกิดจากอะไร? วิธีรักษาให้ตรงจุด

อัพเดทล่าสุด: 27 พ.ค. 2025

อาการปวดใบหน้าเป็นอาการที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตคนที่มีอาการอย่างมาก แม้ดูเหมือนเป็นอาการไม่ร้ายแรง แต่เพราะว่าอาการมันไม่รุนแรงนี่แหละจึงส่งผลต่อสุขภาพจิต เพราะต้องทนปวดซ้ำๆ ทำให้เครียด หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน ไม่สดชื่น รบกวนการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะการรับประทานอาหาร การพูดคุย ยิ้ม หัวเราะ การนอนหลับ ถ้าปวดเรื้อรังเป็นระยะเวลานานอยู่เป็นเดือนหรือเป็นปี ทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการอย่างต่อเนื่อง หากคุณกำลังเจออาการปวดบนในหน้า คงสงสัยใช่ไหมว่าความเจ็บปวดนั้นมาจากไหน? และต้องจัดการกับอาการปวดหน้าอย่างไรมาหาคำตอบด้วยกันเลย!

 

เข้าใจอาการปวดหน้าเรื้อรังว่าคืออะไร

อาการปวดใบหน้าเรื้อรังหมายถึงความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นบริเวณใบหน้าอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอาการนี้ยังไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีทั่วไปหรือไม่หายขาด แม้พักผ่อนหรือรับประทานยาแก้ปวด ลักษณะความเจ็บปวดอาจมีลักษณะแตกต่างกันไป เช่น ปวดแบบตื้อๆ ปวดแปลบ ปวดเหมือนถูกแทง หรือปวดแสบร้อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุและประเภทของสาเหตุอาการ โดยความเจ็บปวดอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่บริเวณขมับ กราม แก้ม ขากรรไกร รอบดวงตา หรือบริเวณอื่นๆ ของใบหน้า แต่มีหลายๆกรณีที่อาการปวดหน้าเรื้อรังมักเกิดจาก ความผิดปกติของระบบประสาทดังนั้นจึงจำเป็นต้องวินิจฉัยหาสาเหตุให้ชัดเจนเพื่อรักษาได้ตรงจุด

 

ลักษณะของอาการปวดหน้าเรื้อรัง

  • อาการปวดอาจเกิดขึ้นเป็นประจำทุกวันหรือเป็นช่วงๆ แต่จะเกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นเวลานาน บางครั้งอาจมีช่วงที่ปวดรุนแรงสลับกับช่วงที่อาการทุเลาลง
  • ระดับความเจ็บปวดอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ตั้งแต่ปวดเล็กน้อยที่รบกวนชีวิตประจำวัน ไปจนถึงปวดรุนแรงจนทำให้ไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้
  • อาการปวดอาจถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น การเคี้ยวอาหาร การพูด การสัมผัส อากาศเย็น หรือแม้แต่ความเครียด

 

สาเหตุของอาการปวดหน้าเรื้อรัง

อาการปวดใบหน้าเรื้อรังสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ บริเวณใบหน้า ศีรษะ และลำคอ เรามาดูว่ามีสาเหตุใดบ้างที่เป็นสาเหตุของอาการที่พบได้บ่อย

 

  • โรคในช่องปากและฟัน : ปัญหาทางทันตกรรม เช่น ฟันผุ โรคเหงือก การติดเชื้อในรากฟัน หรือแม้แต่เนื้องอกในช่องปาก สามารถส่งผลให้เกิดอาการปวดร้าวมายังบริเวณใบหน้าได้ ในบางครั้ง อาการปวดอาจคงอยู่แม้ได้รับการรักษาทางทันตกรรมแล้ว หรืออาจเป็นอาการปวดต่างที่ซึ่งมีต้นเหตุจากบริเวณอื่นแต่ส่งผลให้รู้สึกปวดที่ฟันหรือใบหน้า

 

  • โรคของกระดูกใบหน้า : ความผิดปกติที่ข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Joint Dysfunction - TMD) เป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้ โดยอาจเกิดจากการใช้งานข้อต่อขากรรไกรที่ผิดปกติหรือมากเกินไป การสบฟันที่ผิดปกติ หรือการบาดเจ็บ ซึ่งนำไปสู่อาการปวดบริเวณกราม ขมับ หรือแก้ม

 

  • โรคของต่อมน้ำลาย : การอักเสบ การติดเชื้อ หรือการเกิดนิ่วในต่อมน้ำลาย อาจทำให้เกิดอาการปวดและบวมบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณหน้าหูหรือใต้ขากรรไกร

 

  • โรคไซนัส : ไซนัสอักเสบ ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง มักทำให้เกิดอาการปวดตื้อๆ บริเวณใบหน้า โดยเฉพาะหน้าผาก โหนกแก้ม หรือรอบดวงตา ร่วมกับอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล การรักษาไซนัสอักเสบสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหน้าได้

 

  • โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia) : เป็นสาเหตุสำคัญของอาการปวดใบหน้าเรื้อรัง เกิดจากความผิดปกติของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 ซึ่งทำหน้าที่รับความรู้สึกบนใบหน้าและควบคุมกล้ามเนื้อที่ใช้เคี้ยว สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากมีเส้นเลือดไปกดทับเส้นประสาท แต่ก็อาจเกิดจากเนื้องอก ซีสต์ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง หรือการบาดเจ็บได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแปลบคล้ายไฟฟ้าช็อตหรือเข็มแทงที่ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง อาการมักเกิดฉับพลัน เป็นช่วงสั้นๆ แต่เกิดซ้ำๆ ตลอดวัน และอาจถูกกระตุ้นจากการสัมผัสเบาๆ เช่น ล้างหน้า แปรงฟัน เคี้ยวอาหาร หรือแม้แต่ลมพัด 

 

  • โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก : เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก แม้อาการเด่นคือใบหน้าเบี้ยว แต่บางครั้งอาจมีอาการปวดร่วมด้วย โดยเฉพาะบริเวณหลังหู ก่อนที่อาการอ่อนแรงจะปรากฏ

 

  • โรคทางหลอดเลือด : ภาวะหลอดเลือดแดงขมับอักเสบ เป็นการอักเสบของหลอดเลือดแดงขนาดกลางและใหญ่ โดยเฉพาะที่บริเวณขมับ ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดบริเวณขมับ หรือปวดหน้า มักพบในผู้สูงอายุ และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือปัญหาการมองเห็น

 

  • โรคทางจิตเวช : ภาวะทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้า สามารถส่งผลให้เกิดอาการปวดตามร่างกาย รวมถึงอาการปวดใบหน้าได้ หรืออาจทำให้อาการปวดจากสาเหตุอื่นรุนแรงขึ้น

 

อาการปวดหน้าเรื้อรังแบบไหนที่เราควรพบแพทย์

  • อาการปวดรุนแรงและมีลักษณะเฉพาะ : หากคุณมีอาการปวดแปลบอย่างเฉียบพลันและรุนแรงที่ใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ซึ่งอาจรู้สึกคล้ายถูกไฟฟ้าช็อต เข็มทิ่ม หรือปวดแสบร้อน 
  • มีสิ่งกระตุ้นอาการปวดที่ชัดเจน : อาการปวดที่ถูกกระตุ้นได้ง่ายจากการสัมผัสเพียงเบาๆ บนใบหน้า หรือจากกิจวัตรประจำวัน
  • อาการปวดเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น : หากคุณได้ลองรักษาตามสาเหตุที่สงสัยเบื้องต้น เช่น รักษาปัญหาทางทันตกรรม หรือใช้ยาแก้ปวดทั่วไปแล้วแต่อาการปวดใบหน้ายังไม่ทุเลาลงหรือหายไป ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและแนวทางการรักษาอื่น ๆ
  • ความรุนแรงหรือความถี่ของอาการปวดเพิ่มขึ้น : หากสังเกตว่าอาการปวดหน้าเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น หรือระดับความรุนแรงของอาการปวดเพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัย
  • อาการคล้ายปวดฟันแต่ตรวจไม่พบสาเหตุเมื่อเราไปพบหมอฟันแล้ว : ในบางราย อาการปวดจากเส้นประสาทใบหน้าอาจทำให้รู้สึกคล้ายปวดฟันหรือเหงือกอย่างรุนแรง หากได้พบทันตแพทย์และตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ ในช่องปาก ควรพิจารณาถึงสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาจากฟัน 

แนวทางการรักษาอาการปวดหน้าเรื้อรังโดยการทำหัตถการระงับปวด

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหน้าเรื้อรังรุนแรง หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา อาจพิจารณาการทำหัตถการเพื่อระงับปวด ซึ่งเป็นเทคนิคที่มุ่งเป้าไปที่การยับยั้งหรือปรับเปลี่ยนสัญญาณความปวดจากเส้นประสาทโดยตรง การฉีดยาชาเฉพาะที่ (Local Anesthetic Injection) : ฉีดยาชาบริเวณเส้นประสาทหรือจุดที่ปวดเพื่อบรรเทาอาการชั่วคราว หรือเพื่อช่วยในการวินิจฉัย

  • การบล็อกเส้นประสาท (Nerve Block) : ฉีดยาชาและ/หรือยาสเตียรอยด์เข้าใกล้เส้นประสาทที่เป็นสาเหตุของความปวด เพื่อระงับอาการปวดเป็นระยะเวลานานขึ้น
  • จี้เส้นประสาทด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Ablation) : ใช้ความร้อนจากคลื่นวิทยุทำลายเส้นประสาทที่ส่งสัญญาณความปวด 
  • ฉีด Botulinum Toxin : อาจใช้เพื่อลดอาการปวดที่เกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ในบางกรณี 
  • การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า : เป็นการฝังอุปกรณ์เพื่อให้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาทส่วนปลาย หรือไขสันหลัง เพื่อปรับเปลี่ยนสัญญาณความปวดก่อนส่งไปถึงสมอง 


สรุป

อาการปวดหน้าเรื้อรังเป็นภาวะที่ซับซ้อนและมีสาเหตุได้หลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไม่หนักมาก จนถึงความผิดปกติของเส้นประสาทที่ส่งผลหนักต่อร่างกาย แต่ยังไงเราอยากแนะนำให้ยังไงแล้ว หากพบว่ามีอาการเจ็บผ่านมาหลายวันแล้ว แล้วไม่ดีขึ้น ก็อยากให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะ หากปล่อยไว้โดยไม่ดูแล อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ ก็ขอให้ทุกคนห่างไกลจากอาการเจ็บปวด


บทความที่เกี่ยวข้อง
ผู้ชายกำลังใส่เฝือกเนื่องจากกระดูกหัก
รู้จักกับวิธีการป้องกันการบาดเจ็บและการดูแลสุขภาพหลังการรักษากระดูกหัก เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
30 พ.ค. 2025
มือกำลังจับในส่วนของเส้นเอ็น เนื่องจากมีอาการเอ็นอักเสบ
รู้จักวิธีการรักษาเอ็นอักเสบอย่างมีประสิทธิภาพทั้งจากการบำบัดทางกายภาพและการใช้ยา รวมถึงการดูแลตนเองที่ช่วยเร่งกระบวนการฟื้นฟูและบรรเทาอาการปวด
30 พ.ค. 2025
ผู้หญิงกำลังนั่งจับข้อเท้า
หากข้อเท้าพลิกแล้วไม่หายภายใน 3 เดือน อาจมีปัญหาที่ต้องการการรักษาที่ตรงจุด รู้จักกับวิธีการรักษาและการฟื้นฟูอาการที่เหมาะสมเพื่อให้หายเร็วขึ้น
30 พ.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy