แชร์

รักษา ปวดหัวเรื้อรัง ด้วยแนวทางการรักษาใหม่

อัพเดทล่าสุด: 18 เม.ย. 2025

      เรามักจะมีความเคยชิน และถูกบอกจากคนรอบ ๆ ตัวว่าอาการปวดหัว เป็นเรื่องเล็ก แป๊บเดียวก็หาย ให้นอน ให้กินยา แต่ทั้งที่ความจริงมันคืออาการที่เกิดขึ้นกับคนในวัยทำงานมากมายทุกวันนี้ และลดประสิทธิภาพการใช้ชีวิตของเรา และลดประสิทธิภาพการทำงานลง ผู้เขียนเชื่อว่าหากเรามีความรู้ ความตระหนักต่ออาการปวดหัวเรื้อรัง และความเข้าใจที่ถูกต้อง ผนวกกับการดูแลรักษาที่เหมาะสม เราทุกคนสามารถเอาชนะอาการปวดหัวเรื้อรัง และกลับไปเป็นตัวของตัวเองที่มีความสุขและมีประสิทธิภาพได้อีกครั้ง ไม่ต้องกังวลกับอาการปวดหัวที่คอยตามกวนใจ จึงเป็นที่มาของเนื้อหาในวันนี้

อาการปวดหัวเรื้อรังและไมเกรนคืออะไร? เป็นอย่างไร?

อาการปวดหัวเรื้อรังคือภาวะที่มีอาการปวดหัว ปวดศีรษะติดต่อกันเป็นเวลานาน ถ้าให้จำกัดความโดยทั่วไปแล้วจะหมายถึงการปวดหัวที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 15 วันต่อเดือน ดังที่หน่วยงาน International Classification of Headache Disorders (ICHD) ระบุเอาไว้ ซื่งอาการจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้มีอาการ


ลักษณะของอาการปวดหัวเรื้อรัง

  • ความรุนแรงของอาการอาจแตกต่างกันไปตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรงมาก
  • อาการปวดอาจเกิดขึ้นที่บริเวณใดก็ได้ของศีรษะ เช่น ขมับ หน้าผาก ท้ายทอย หรือทั่วทั้งศีรษะ
  • บางรายอาจมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือความไวต่อแสงและเสียง
  • อาการมักไม่ตอบสนองต่อยาแก้ปวดทั่วไป หรือตอบสนองเพียงชั่วคราว


สาเหตุของอาการปวดหัวเรื้อรัง

  • ปวดหัวไมเกรนเรื้อรัง : เกิดจากไมเกรนที่มีความถี่มากขึ้นจนกลายเป็นอาการเรื้อรัง
  • ปวดหัวจากความตึงเครียด : เกิดจากกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ และศีรษะตึงตัว
  • ปวดหัวจากการใช้ยาเกินขนาด : เกิดจากการใช้ยาแก้ปวดหรือยารักษาไมเกรนบ่อยเกินไป
  • ปวดหัวคลัสเตอร์เรื้อรัง : เป็นอาการปวดหัวรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ และเรื้อรัง
  • ปวดหัวจากพยาธิสภาพทางสมอง : เช่น เนื้องอก ความดันในกะโหลกศีรษะสูง หรือการติดเชื้อ
  • โรคทางระบบประสาท : เช่น โรคลมชัก หรือโรคเส้นประสาทอักเสบ
  • ปัจจัยด้านพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม : เช่น ความเครียด การนอนไม่เพียงพอ การบริโภคแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนมากเกินไป


ไมเกรน (Migraine)

      ไมเกรนเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการปวดหัวเรื้อรัง แต่ไม่ใช่ว่าอาการปวดหัวเรื้อรังทุกกรณีจะเป็นไมเกรน โดยไมเกรนเป็นอาการทางระบบประสาทชนิดหนึ่ง ซึ่งจะมีลักษณะเป็นอาการปวดศีรษะข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง มีความรุนแรงปานกลางถึงมาก และมักมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และความไวต่อแสงและเสียง ซึ่งสามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
ระยะของไมเกรน

  • ระยะก่อนปวด (Prodrome) : เกิดขึ้น 1-2 วันก่อนอาการปวดหัว มีอาการเช่น อ่อนเพลีย หงุดหงิด หรือการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์

  • ระยะออร่า (Aura) : เกิดขึ้นก่อนหรือระหว่างอาการปวดหัว มีความผิดปกติทางการมองเห็น เช่น เห็นแสงวาบ จุดบอด หรือเส้นซิกแซก หรืออาจมีอาการชาตามร่างกาย

  • ระยะปวดหัว (Headache) : อาการปวดมักเริ่มจากเล็กน้อยแล้วค่อยๆ รุนแรงขึ้น อาจปวดข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง มีลักษณะปวดตุบๆ หรือปวดต่อเนื่อง มักมีอาการร่วมเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อแสงและเสียง

  • ระยะหลังปวด (Postdrome) : หลังจากอาการปวดหัวหายไป ผู้ป่วยอาจรู้สึกอ่อนเพลีย สับสน หรือซึมเศร้า อาจใช้เวลา 1-2 วันกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ

 


วิธีวินิจฉัยและประเมินอาการปวดหัวเรื้อรัง

      อันเนื่องมากจากอาการปวดหัวอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ มีกว้าง มีหลายสาเหตุมากๆ ดังนั้นการวินิจฉัยแยกโรคเป็นขั้นตอนสำคัญมากๆ โดยเราจะแบ่งสาเหตุออกเป็น แบบปฐมภูมิ และทุติยภูมิ โดยเราจะเริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกายเพื่อเข้าใจเกี่ยวกับ

  • ลักษณะของอาการปวด : ตำแหน่ง ความรุนแรง ลักษณะการปวด (เช่น ตุ๊บๆ บีบรัด แทงทะลุ)
  • ระยะเวลาและความถี่ : อาการปวดเกิดขึ้นเมื่อใด นานเท่าใด บ่อยแค่ไหน
  • อาการนำและอาการร่วม : มีอาการแสดงใดๆ ก่อนปวดหัว (เช่น ออร่า) หรือระหว่างปวดหัว
  • ปัจจัยกระตุ้น : สิ่งที่ทำให้เกิดอาการหรือทำให้อาการแย่ลง
  • ปัจจัยบรรเทา : สิ่งที่ช่วยบรรเทาอาการ
  • ประวัติการรักษา : ยาที่เคยใช้และผลการรักษา
  • ประวัติครอบครัว : ญาติสายตรงที่มีอาการปวดหัวเรื้อรัง
  • ผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน : การทำงาน การเรียน กิจกรรมทางสังคม คุณภาพชีวิต


อาการปวดหัวปฐมภูมิ

  • ไมเกรนเรื้อรัง (Chronic Migraine)
  • ปวดหัวจากความเครียดเรื้อรัง
  • ปวดหัวคลัสเตอร์ (Cluster Headache)
  • ปวดหัวจากการใช้ยาเกินขนาด

 

อาการปวดหัวทุติยภูมิ

  • ความผิดปกติของกะโหลกศีรษะและคอ กล้ามเนื้อและข้อต่อที่ผิดปกติ
  • โรคทางระบบประสาท เนื้องอกสมอง ความดันในสมองสูง โรคลมชัก
  • ความผิดปกติของหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง
  • การติดเชื้อ ในเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ไซนัสอักเสบ
  • ความผิดปกติของตา หู จมูก คอ ต้อหิน โรคที่เกี่ยวกับหูชั้นกลาง
  • ความผิดปกติจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือโรคไทรอยด์
  • โรคทางจิตเวช โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล เป็นต้น


แนวทางการรักษาอาการปวดหัวเรื้อรังด้วยด้วยหัตถการ

      การรักษาอาการปวดศีรษะเรื้อรัง หรือไมเกรนที่การรักษาด้วยยาไม่เพียงพอ การจัดการความปวดด้วยหัตถการเป็นอีกทางเลือกที่ดีและมีประสิทธิภาพโดยการรักษาด้วยหัตถการจะมุ่งเน้นไปที่การระงับสัญญาณความปวดโดยตรง หรือปรับเปลี่ยนการทำงานของระบบประสาทเพื่อลดอาการปวด

 

การบล็อกเส้นประสาท (Nerve Blocks)

      เป็นเทคนิคการฉีดยาชาหรือยาต้านการอักเสบไปยังเส้นประสาทที่ส่งสัญญาณปวด เพื่อลดการอักเสบและระงับอาการปวดชั่วคราว ให้ผลทันทีหลังทำหัตถการ และคงอยู่ได้นาน 2-12 สัปดาห์ ซึ่งจะแบ่งเป็น

  • Occipital Nerve Blocks : ฉีดยาบริเวณเส้นประสาทท้ายทอย เหมาะสำหรับผู้ป่วยปวดศีรษะจากไมเกรนหรือเส้นประสาทอักเสบ
  • Supraorbital Nerve Blocks : บล็อกเส้นประสาทเหนือเบ้าตา ช่วยลดอาการปวดบริเวณหน้าผากและขมับ
  • Greater Occipital Nerve Blocks : มุ่งเป้าไปที่เส้นประสาทท้ายทอยระดับสูง ใช้รักษาอาการปวดร้าวจากคอสู่ศีรษะ

 

การฉีดยาคลายจุดกดเจ็บ (Trigger Point Injections)

  • Myofascial Trigger Point Injections : ฉีดยาชาผสมยาสเตียรอยด์เข้าไปคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง ช่วยลดอาการปวดและฟื้นฟูการเคลื่อนไหว
  • Botulinum Toxin Injections : ใช้ยับยั้งการส่งสัญญาณประสาทไปยังกล้ามเนื้อ ช่วยลดความถี่และความรุนแรงของไมเกรนเรื้อรัง

 


การจี้ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Ablation)

      เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาเดิม โดยใช้คลื่นความถี่สูงสร้างความร้อนทำลายเส้นประสาทส่วนที่ส่งสัญญาณปวด ใช้เวลา 30-60 นาที ภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่ ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันที ตัวอาจมีอาการชาหรือเจ็บตึงบริเวณที่รักษาแต่โดยปกติแล้วจะมีระยะฟื้น 1-2 สัปดาห์ และผลการรักษาคงอยู่ได้ 6 เดือนถึง 2 ปี

การกระตุ้นเส้นประสาท (Neuromodulation)

      เป็นเทคโนโลยีที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าหรือแม่เหล็กไปปรับการทำงานของระบบประสาท ลดการรับรู้ปวดซึ่งจะเป็นการปลูกถ่ายอุปกรณ์ขนาดเล็กใต้ผิวหนังเพื่อกระตุ้นเส้นประสาทท้ายทอย และ Cervical Spinal Cord Stimulation เป็นการกระตุ้นไขสันหลังระดับคอเพื่อระงับปวดศีรษะรุนแรง

สรุป

      ในเบื้องต้นหากเราเริ่มมีอาการปวดหัว แต่ยังไม่บ่อย และเรานอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และจัดการความเครียดแล้ว ก็ยังไม่หาย ยังมีอาการปวดหัวเกิดขึ้นกับเราอีกบ่อยๆ ก็แนะนำให้ไปพบแพทย์ ทันที เพราะสิ่งนี้มันเป็นสัญญาณความไม่ปกติที่ชัดเจน และ เราอยากจะแนะนำเพิ่มเติมก่อนไปพบแพทย์ เราควรจดบันทึกอาการ บันทึกความถี่ ความรุนแรง ระยะเวลา เอาไว้เพื่อเป็นกระโยชน์กับแพทย์ในการวินิจฉัย

บทความโดย พญ. นาตยา อุดมศักดิ์
ผู้นำทีมแพทย์ ผู้นำนวัตกรรมรักษาความปวดระดับครบวงจร มาตรฐานนานาชาติ ให้แก่คนไทย และในภูมิภาค ประสบการณ์กว่า 17 ปี ผ่านการร่วมงานกับ โรงพยาบาลชั้นน้ำมาแล้ว


บทความที่เกี่ยวข้อง
ปวดหลังจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
ความหวังใหม่ของผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังจาก หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำ ทางเลือกใหม่ช่วยขจัดพังผืด ลดปวดได้ตรงจุด
18 เม.ย. 2025
ผู้หญิงกำลังนั่งอยู่ที่โซฟามีอาการปวดท้องน้อย
ปวดท้องน้อยเรื้อรังอาจเกิดจากโรคทางนรีเวช ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือระบบประสาท รู้จักสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษาที่เหมาะสมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
18 เม.ย. 2025
ชายหนุ่มกำลังนั่งทำงานอยู่ในออฟฟิศและมีอาการปวดหลัง
ปวดหลัง ออฟฟิศซินโดรม จากการทำงานนานๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ รู้จักสาเหตุ อาการ และแนวทางป้องกัน พร้อมวิธีรักษาเพื่อให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
18 เม.ย. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy