แชร์

ปวดท้องน้อยเรื้อรัง: สาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษาที่ได้ผล

อัพเดทล่าสุด: 18 เม.ย. 2025

      ถ้าหากจู่ๆ ก็รู้สึกเจ็บแปลบที่ท้องน้อย ความรู้สึกปวดหน่วงๆ อึดอัด แม้คุณลองปรับท่านั่ง เปลี่ยนอิริยาบถ กินยาแก้ปวด มันก็ดีขึ้น แต่อีกไม่กี่วันต่อมา อาการนั้นก็กลับมาอีก อาการนี้เป็นสัญญาณที่บ่งชี้แล้วว่าคุณปวดท้องน้อยเรื้อรัง ซึ่งมันไม่ใช่แค่ ปวดท้องธรรมดา แต่มันคือความทุกข์ทรมานในชีวิตของผู้หญิงหลายคนทั่วโลก ถ้าหากวันนี้คุณยังไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร และจะมีแนวทางแนะนำรักษาได้อย่างไรบ้างวันนี้มาอ่านบทความนี้กัน

 

การปวดท้องน้อยเรื้อรังคืออะไร? อาการเป็นอย่างไร? ตำแหน่งไหน? 


      การปวดท้องน้อยเรื้อรัง (Chronic Pelvic Pain) คือ อาการปวดบริเวณท้องส่วนล่าง ใต้สะดือลงมาจนถึงขอบกระดูกเชิงกราน ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหรือเป็นๆ หายๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป โดยอาจมีลักษณะอาการปวดแบบแปล๊บๆ หรือปวดจี๊ดๆ ปวดตื้อ ปวดหน่วง หรือปวดบีบเป็นระยะ มักสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว การมีเพศสัมพันธ์ หรือรอบเดือนในผู้หญิง บางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณหลังส่วนล่างหรือต้นขา ร่วมกับอาการอื่น  เช่น ท้องอืด รู้สึกถ่วงอุ้งเชิงกราน หรือปัสสาวะแสบขัด ทั้งนี้ พบมากในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ แต่ก็สามารถเกิดในผู้ชายได้เช่นกัน


สาเหตุของการปวดท้องน้อยเรื้อรัง

       เนื่องจากอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังนั้นเป็นภาวะที่มีความซับซ้อนสูง เพราะสาเหตุที่จะทำให้เกิดขึ้นนั้นมีหลายระบบในร่างกายเรา ทั้งระบบสืบพันธุ์ ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบทางเดินอาหาร ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก รวมถึงระบบประสาท ดังนั้นจึงอยากแนะนำให้หากมีอาการก็เข้าพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย แต่ในหัวข้อนี้เราจะเขียนไว้เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้น

 

ระบบสืบพันธุ์สตรี

  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ : ภาวะที่เนื้อเยื่อคล้ายเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตนอกโพรงมดลูก เช่น บริเวณรังไข่ ท่อนำไข่ ผนังช่องท้อง หรืออวัยวะในอุ้งเชิงกราน เนื้อเยื่อเหล่านี้จะมีการเปลี่ยนแปลงตามรอบเดือน  ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและการสร้างพังผืด ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องน้อยรุนแรงโดยเฉพาะในช่วงมีประจำเดือน บางรายอาจมีอาการปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์หรือปวดขณะขับถ่าย

  • เนื้องอกมดลูก : เนื้องอกที่เกิดในผนังมดลูก แม้ส่วนใหญ่ไม่ใช่มะเร็ง แต่หากมีขนาดใหญ่หรืออยู่ในตำแหน่งที่กดทับอวัยวะข้างเคียง อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย ปวดหนัก มีความรู้สึกแน่นอึดอัดในอุ้งเชิงกราน  ประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือปัสสาวะบ่อย

  • การอักเสบในอุ้งเชิงกราน : เกิดจากการติดเชื้อในอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น มดลูก ท่อนำไข่ หรือรังไข่ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียทางเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อหลังการคลอดหรือแท้งบุตร


ระบบทางเดินปัสสาวะ

  • กระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง : ภาวะที่ผนังกระเพาะปัสสาวะมีการอักเสบเรื้อรังโดยไม่พบการติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหรือแสบบริเวณท้องน้อย มีความรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเร่งด่วน และอาจมีอาการปวดขณะมีเพศสัมพันธ์

  • นิ่วในทางเดินปัสสาวะ : ก้อนนิ่วที่เกิดในไต ท่อไต หรือกระเพาะปัสสาวะ อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังได้ โดยเฉพาะหากมีนิ่วขนาดเล็กที่ไม่สามารถผ่านออกมาได้ แต่ยังไม่ใหญ่พอที่จะอุดตันทางเดินปัสสาวะอย่างสมบูรณ์


ระบบทางเดินอาหาร

  • ลำไส้แปรปรวน : ความผิดปกติของการทำงานของลำไส้ที่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด และมีการเปลี่ยนแปลงของการขับถ่าย เช่น ท้องเสียสลับกับท้องผูก อาการปวดมักสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารบางชนิดและความเครียด และมักบรรเทาลงหลังการขับถ่าย

  • ท้องผูกเรื้อรัง : ภาวะที่มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ช้ากว่าปกติ ทำให้อุจจาระแข็งและถ่ายยาก ส่งผลให้เกิดการสะสมของอุจจาระในลำไส้ใหญ่ กดทับอวัยวะในอุ้งเชิงกราน ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย ท้องอืด ไม่สบายท้อง


ระบบประสาท

  • เส้นประสาทถูกกดทับหรืออักเสบ เช่น ภาวะเส้นประสาทถูกทำลายหลังผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน การอักเสบของเส้นประสาท pudendal ทำให้เกิดอาการปวดแบบเส้นประสาท มีลักษณะปวดแสบร้อน ชา หรือเสียวแปลบ อาการอาจเกิดเป็นพักๆ หรือต่อเนื่อง และมักแย่ลงเมื่อนั่งนานๆ

 

ปัจจัยทางจิตใจ

  • ปัจจัยทางจิตใจไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของการปวดท้องน้อยเรื้อรัง แต่อาจส่งผลให้ความไวต่อการรับรู้ความปวดเพิ่มขึ้น ทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้นหรือกลับเป็นซ้ำได้ง่าย นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวลสูงกว่าคนทั่วไป

 


แนวทางการรักษาด้วยยา

      แนวทางการรักษาด้วยยาเป็นการจัดการอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อบรรเทาอาการปวด เพิ่มคุณภาพชีวิต และลดผลข้างเคียงจากยาให้เหลือน้อยที่สุด การเลือกใช้ยาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวด ความรุนแรงของอาการ และลักษณะเฉพาะของผู้มีอาการแต่ละราย

  • ยาแก้ปวด : ยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ทั่วไปจะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยาแก้ปวดกลุ่มนี้อาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรในการรักษาอาการปวดเรื้อรัง ในบางกรณี

  • ยาเกี่ยวกับภาวะฮอร์โมน : ในผู้ที่มีอาการปวดสัมพันธ์กับรอบเดือน หรือมีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ยาฮอร์โมนอาจเป็นประโยชน์ ยาคุมกำเนิดและโปรเจสเตอโรนสามารถช่วยลดอาการปวดได้ โดยการควบคุมระดับฮอร์โมนและลดการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์แรงกว่า ใช้ในกรณีที่อาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อยาอื่น (แต่ต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์)

  • ยาต้านอาการปวดจากระบบประสาท : ยาเหล่านี้ช่วยลดความไวของระบบประสาทต่อความเจ็บปวด มักใช้ในกรณีที่อาการปวดมีลักษณะเป็นอาการปวดแบบเส้นประสาท เช่น ปวดแสบร้อน ชา หรือเสียวแปลบ

  • ยาต้านเศร้า : ยาต้านเศร้าบางชนิดสามารถช่วยลดอาการปวดเรื้อรังได้ แม้ว่าผู้มีอาการจะไม่ได้มีภาวะซึมเศร้า ยาเหล่านี้มีผลต่อสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความเจ็บปวดและอารมณ์ (เน้นย้ำว่าต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์)


แนวทางการรักษาโดยไม่ใช้ยา

      นอกเหนือจากการใช้ยา การรักษาโดยไม่ใช้ยาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการจัดการอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง ซึ่งจะเน้นไปในทางฟื้นฟูการทำงานของร่างกาย ลดอาการอักเสบ คลายความเครียด และปรับสมดุลของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถนำมาใช้ร่วมกับการรักษาด้วยยาเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการบรรเทาอาการ


การทำกายภาพบำบัด

  • กายภาพบำบัดมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูและบรรเทาอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง โปรแกรมกายภาพบำบัดมักประกอบด้วยเทคนิคต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแรง และปรับปรุงการทำงานของระบบต่างๆ ในอุ้งเชิงกราน


การฝังเข็มและโยคะ

  • การฝังเข็มและการฝึกโยคะเป็นทางเลือกในการรักษาที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยและสามารถช่วยลดอาการปวด รวมถึงส่งเสริมสุขภาพองค์รวม ช่วยลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ ปรับปรุงความยืดหยุ่น และลดความเครียด การฝึกโยคะเป็นประจำสามารถช่วยลดอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง


การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

  • การออกกำลังกาย : การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ลดความเครียด และปรับปรุงการนอนหลับ ควรเลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและความชอบส่วนบุคคล

  • การควบคุมอาหาร : การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นอาการปวด สามารถช่วยลดการอักเสบและปรับปรุงการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย การจดบันทึกอาหารและสังเกตอาการที่เกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารแต่ละชนิด สามารถช่วยระบุอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงได้

  • การจัดการความเครียด : ความเครียดสามารถทำให้อาการปวดแย่ลง ดังนั้นการเรียนรู้วิธีจัดการความเครียด เช่น การทำสมาธิ การฝึกหายใจ หรือการทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย สามารถช่วยลดอาการปวดและปรับปรุงคุณภาพชีวิต


แนวทางการรักษาด้วยหัตถการระงับปวด

      การรักษาอาการปวดท้องน้อยด้วยหัตถการระงับปวดเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือการรักษาโดยไม่ใช้ยาอย่างเพียงพอ หัตถการเหล่านี้มุ่งเน้นการจัดการกับแหล่งกำเนิดของความเจ็บปวดโดยตรง ซึ่งอาจเป็นเส้นประสาทที่ไวต่อความเจ็บปวดผิดปกติ หรือจุดกดเจ็บในกล้ามเนื้อ


ฉีดยาชาเฉพาะจุด

      การฉีดยาชาเฉพาะจุดเป็นวิธีการรักษาที่มุ่งเป้าไปที่บริเวณที่มีอาการปวดโดยตรง โดยแพทย์จะทำการฉีดยาชา เข้าไปยังจุดกดเจ็บ (Trigger Point) หรือบริเวณใกล้เคียงเส้นประสาทที่เกี่ยวข้อง ในบางกรณี อาจมีการใช้ยาอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อลดการอักเสบในบริเวณนั้น การฉีดยาชาเฉพาะจุดจะช่วยลดอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อที่ตึงตัว ทำให้ผู้มีอาการรู้สึกสบายขึ้นและสามารถเคลื่อนไหวได้สะดวกยิ่งขึ้น

รักษาด้วยคลื่นวิทยุ (Radiofrequency Ablation)

      การรักษาด้วยคลื่นวิทยุ หรือ Radiofrequency Ablation เป็นวิธีการรักษาที่ใช้ความร้อนจากคลื่นวิทยุเพื่อทำลายเนื้อเยื่อประสาทที่ส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมอง วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้มีอาการที่มีอาการปวดเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่นๆ โดยแพทย์จะสอดเข็มขนาดเล็กเข้าไปยังบริเวณเส้นประสาทที่ต้องการรักษา จากนั้นจะปล่อยคลื่นวิทยุผ่านเข็มเพื่อให้เกิดความร้อนและทำลายเส้นประสาทดังกล่าว

สรุป

ท้ายสุดแล้วอยากจะขอแนะนำจริงๆ ว่า หากคุณมีอาการปวดท้องที่เรื้อรัง ไม่ว่าจะทำไหน เราอยากแนะนำให้เข้าแพทย์เพื่อวินิจฉัย เพราะหลายๆ ครั้งอาการปวดท้องนั้นเป็นอาการที่ซับซ้อน และต้องการการวินิจฉัยที่แม่นยำเพื่อที่จะรักษาอย่างถูกต้องและทันก่อนที่อาการที่หนักยิ่งกว่าจะเกิดขึ้นกับร่างกายเรา

บทความโดย พญ. นาตยา อุดมศักดิ์
ผู้นำทีมแพทย์ ผู้นำนวัตกรรมรักษาความปวดระดับครบวงจร มาตรฐานนานาชาติ ให้แก่คนไทย และในภูมิภาค ประสบการณ์กว่า 17 ปี ผ่านการร่วมงานกับ โรงพยาบาลชั้นน้ำมาแล้ว


บทความที่เกี่ยวข้อง
เอ็นหัวไหล่ฉีก shoulder rotator cuff tear
เคยรู้สึกปวดไหล่เวลายกแขนหรือขยับตัวบ้างไหม? อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของ "เอ็นไหล่ฉีกขาด" ซึ่งเกิดจากการบาดเจ็บหรือการเสื่อมสภาพของเส้นเอ็นรอบ ๆ ข้อไหล่ ส่งผลให้เราใช้แขนยกของ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ยากขึ้น รักษาอย่างไร ต้องผ่าตัดหรือไม่ เซเปี้ยนซ์ มีคำตอบ
14 ก.ค. 2025
ปวดหลังจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
ความหวังใหม่ของผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังจาก หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำ ทางเลือกใหม่ช่วยขจัดพังผืด ลดปวดได้ตรงจุด
18 เม.ย. 2025
ผู้หญิงสาววัยกลางคนมีอาการปวดหัวเรื้อรัง
ปวดหัวเรื้อรังและไมเกรน รักษาด้วยหัตถการ เช่น การบล็อกเส้นประสาท และการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ ช่วยบรรเทาอาการปวดอย่างตรงจุดและลดการใช้ยาในระยะยาว
19 เม.ย. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy