อย่าปล่อยให้มือชา เท้าชา ทำลายชีวิต! รู้ทันภาวะปลายประสาทเลื่อมก่อนสาย
ภาวะปลายประสาทเสื่อม (Peripheral Neuropathy) ภาวะที่เส้นประสาทส่วนปลายได้รับความเสียหาย ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ชา ปวด แสบร้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือสูญเสียความสามารถในการรับรู้ความรู้สึก โดยเฉพาะบริเวณมือและเท้า
ประเภทของภาวะปลายประสาทเสื่อม
ภาวะปลายประสาทเสื่อมสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับจำนวนเส้นประสาทที่ได้รับผลกระทบ และสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหาย
1. Mononeuropathy (เส้นประสาทเสื่อมแบบเดี่ยว)
เป็นภาวะที่มีเส้นประสาทเพียงเส้นเดียวที่ได้รับผลกระทบ สาเหตุอาจเกิดจากการบาดเจ็บโดยตรง การกดทับของเส้นประสาท หรือเลือดไหลเวียนไม่เพียงพอไปเลี้ยงเส้นประสาทตัวอย่างของ Mononeuropathy ได้แก่:
- โรคพังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ (Carpal tunnel syndrome)
- เส้นประสาทรักแร้ได้รับความเสียหายจากการเคลื่อนของไหล่
- การบาดเจ็บของเส้นประสาทจากการใช้ไม้เท้า
- อาการจากรังสีรักษาที่ทำให้เส้นประสาทเสียหาย
2. Polyneuropathy (เส้นประสาทเสื่อมแบบหลายเส้น)
เป็นภาวะที่เส้นประสาทหลายเส้นในร่างกายได้รับผลกระทบพร้อมกัน มักเกิดจากโรคที่ส่งผลต่อร่างกายโดยรวม เช่น เบาหวานหรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง
สาเหตุของ Polyneuropathy ได้แก่:
- ภาวะเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน
- ภาวะเส้นประสาทเสื่อมจากแอลกอฮอล์
- การติดเชื้อ เช่น โรคไลม์ ตับอักเสบซี และเอชไอวี
- การขาดวิตามินบี 12
- โรคไตเรื้อรัง
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เช่น โรคลูปัส หรือกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร
- อาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัดโรคมะเร็งบางชนิดที่ส่งผลต่อเส้นประสาท
สาเหตุที่พบได้ ได้แก่:
- โรคเบาหวาน
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เช่น โรคลูปัส หรือโรครูมาตอยด์
- การอักเสบของหลอดเลือดที่ทำให้เกิดภาวะเส้นประสาทเสื่อม
อาการของภาวะปลายประสาทเสื่อม
ภาวะปลายประสาทเสื่อมสามารถส่งผลต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน ได้แก่:
- เส้นประสาทรับความรู้สึก: อาการได้แก่ ปวดแปล๊บ ชา รู้สึกเหมือนมีเข็มแทง รู้สึกไวต่อความเจ็บปวด
- เส้นประสาทสั่งการกล้ามเนื้อ: อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว กล้ามเนื้อลีบ หรือมีปัญหาการเดิน
- เส้นประสาทอัตโนมัติ: อาจส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น ความดันโลหิตผิดปกติ ปัญหาการขับถ่าย หรือสมรรถภาพทางเพศลดลง
การวินิจฉัยภาวะปลายประสาทเสื่อม
การวินิจฉัยประกอบด้วย:
- การตรวจร่างกายและระบบประสาท เพื่อตรวจหาความผิดปกติของกล้ามเนื้อ การตอบสนองของเส้นประสาท และการทรงตัว
- การตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุที่เป็นไปได้ เช่น เบาหวาน การติดเชื้อ หรือภาวะขาดวิตามิน
- การตรวจเส้นประสาท เช่น การวัดการนำกระแสประสาท (NCV) และการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG)
- การตรวจทางรังสี : MRI (Magnetic Resonance Imaging) สามารถตรวจหาภาวะเส้นประสาทถูกกดทับ เนื้องอก หรือปัญหาภายในอื่น ๆ ได้ แม้ว่าจะไม่พบบ่อย แต่ MRI ที่แขนหรือขาก็อาจช่วยระบุการกดทับของเส้นประสาทได้ CT (Computed Tomography) ใช้ตรวจภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อน การตีบแคบของโพรงกระดูกสันหลัง เนื้องอก และความผิดปกติของกระดูก หรือหลอดเลือดที่ส่งผลต่อเส้นประสาท
- การตรวจทางพันธุกรรม : อาจใช้ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคเส้นประสาทส่วนปลายที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- การตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น การเจาะน้ำไขสันหลังหากสงสัยโรคกิลแลง-บาร์เร
การรักษาสาเหตุพื้นฐาน: เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน
1. การใช้ยา
- ยาบรรเทาปวดที่ไม่ใช่โอปิออยด์: เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
- ยากันชัก: เช่น กาบาเพนติน (Gabapentin), พรีกาบาลิน (Pregabalin) และ มิโรกาบาลิน(Mirogabalin)
- ยาต้านอาการซึมเศร้า: เช่น อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) หรือเวนลาฟาซีน (Venlafaxine)
- ยาทาเฉพาะที่: เช่น ครีมแคปไซซิน (Capsaicin) หรือแผ่นแปะลิโดเคน (Lidocaine)
- การใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids):
- สำหรับอาการปวดปานกลาง: ทรามาดอล(Tramadol) หรือโคเดอีน (Codeine)
- สำหรับอาการปวดรุนแรง: มอร์ฟีน (Morphine), ออกซีโคโดน(Oxycodone), เฟนทานิล (Fentanyl) หรือเมทาโดน (Methadone)
การใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดยาและผลข้างเคียงอื่น ๆ
2. หัตถการทางการแพทย์ (Pain Intervention)
- การฉีดยาเข้าโพรงประสาท (Epidural Injection): ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในโพรงไขสันหลังเพื่อบรรเทาอาการปวด
- การใช้คลื่นวิทยุระงับปวด (Radiofrequency Ablation - RFA): ใช้กระแสไฟฟ้าสร้างความร้อนเพื่อทำลายเส้นประสาทที่นำความปวด
- การบล็อกระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathetic Nerve Block): ฉีดยาชาหรือสารทำลายเส้นประสาทบริเวณโซ่ประสาทซิมพาเทติก
- การกระตุ้นไขสันหลัง (Spinal Cord Stimulation - SCS): ใส่ขั้วไฟฟ้าเข้าไปในช่องไขสันหลังเพื่อปรับสัญญาณความปวด
- การให้ยาแบบเจาะจงทางไขสันหลัง (Intrathecal Targeted Drug Delivery): ใช้ปั๊มส่งยาเข้าไขสันหลังโดยตรง
สรุป
ภาวะปลายประสาทเสื่อมเกิดจากความเสียหายของเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการปวด ชา อ่อนแรง หรือความผิดปกติของอวัยวะภายใน สาเหตุหลัก ได้แก่ เบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง และพิษจากสารเคมี
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุ ตั้งแต่การใช้ยา กายภาพบำบัด จนถึงหัตถการระงับปวด (Pain Interventions) ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทั่วไป เพื่อบรรเทาอาการและพัฒนาคุณภาพชีวิต