อาการปวดไหล่ขวาสะบักบ่า อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
ทำความเข้าใจกายวิภาคของบริเวณไหล่และสะบักบ่า
ข้อไหล่เป็นข้อต่อที่มีขอบเขตการเคลื่อนไหวมากที่สุดในร่างกาย ประกอบด้วยกระดูก 3 ชิ้นหลัก ได้แก่ กระดูกต้นแขน, กระดูกสะบัก และกระดูกไหปลาร้า ซึ่งทำงานร่วมกันผ่านการเชื่อมต่อของกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่อต่างๆ กล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ที่สำคัญได้แก่กลุ่มกล้ามเนื้อ Rotator Cuff ซึ่งประกอบด้วยกล้ามเนื้อ 4 มัดทำหน้าที่ช่วยพยุงและควบคุมการเคลื่อนไหวของข้อไหล่ โดยบริเวณสะบักบ่ามีกล้ามเนื้อหลายมัดที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งทำหน้าที่ในการยกและหมุนกระดูกสะบัก รวมถึงช่วยในการเคลื่อนไหวของแขนและไหล่
ด้วยกายวิภาคของบริเวณไหล่และสะบักบ่าที่เราได้อธิบายไปข้างต้น ก็จะเห็นได้ว่าโครงสร้างของไหล่และสะบักบ่ามีความซับซ้อนและมีส่วนประกอบหลายส่วนที่ทำงานร่วมกันทั้งชิ้นส่วนของกระดูก กล้ามเนื้อมัดต่างๆ มากมาย ดังนั้นเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับส่วนใดส่วนหนึ่ง จึงอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานโดยรวมของบริเวณดังกล่าว และทำให้เกิดอาการปวดหรือความผิดปกติต่างๆ ได้ อีกทั้งความซับซ้อนของโครงสร้างนี้ทำให้เมื่อเกิดความผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย อาจส่งผลให้จำกัดการเคลื่อนไหวของเราได้
สาเหตุของอาการปวดไหล่ขวาและสะบักบ่า
อาการปวดบริเวณไหล่ขวาและสะบักบ่าสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน พฤติกรรมการทำงาน หรือแม้แต่โรคบางชนิด โดยสาเหตุหลักๆ มักแบ่งได้ดังนี้
ท่าทางไม่เหมาะสมและการใช้กล้ามเนื้อซ้ำๆ
การใช้งานร่างกายในชีวิตประจำวันเป็นสาเหตุหลักที่พบบ่อยของอาการปวดไหล่ขวาและสะบักบ่า การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานในท่าที่ไม่ถูกต้อง การนั่งทำงานนานๆ ในท่าไหล่ห่อ คอยื่นไปด้านหน้า หรือยกแขนขวาทำงานซ้ำๆ เป็นเวลาต่อเนื่อง ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณสะบักบ่าและไหล่ถูกกดทับหรือเกร็งตัวเกินปกติ จนเกิดการอักเสบเรื้อรัง หากไม่ปรับเปลี่ยนท่าทาง อาจนำไปสู่ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเส้นประสาทถูกกดทับได้
การบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น
การยกของหนักผิดท่า หกล้ม หรือออกกำลังกายหักโหมโดยไม่วอร์มร่างกาย อาจทำให้กล้ามเนื้อ Rotator Cuff (เป็นกลุ่มกล้ามเนื้อที่ช่วยพยุงและควบคุมการเคลื่อนไหวของข้อไหล่) บาดเจ็บ เอ็นฉีกขาด หรือเกิดภาวะข้อไหล่หลุดบางส่วน ซึ่งส่งผลให้มีอาการปวดร้าวไปยังสะบักบ่าได้
โรคทางกระดูกและข้อต่อ
โรคข้อเสื่อม ,ข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือกระดูกคอเสื่อม อาจทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทหรือการอักเสบที่ส่งผลต่อการทำงานของไหล่และสะบักบ่า
ความเครียดและภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง
ความเครียดสะสมทำให้กล้ามเนื้อหลังส่วนบนและบ่าหดตัวตลอดเวลา ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่ดี เกิดอาการปวดตื้อๆ ที่ไหล่ขวาและสะบักบ่า ซึ่งหากปล่อยไว้นานอาจพัฒนาเป็นอาการปวดเรื้อรัง
ปัญหาอวัยวะภายใน
บางกรณี อาการปวดไหล่ขวาอาจไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างร่างกายโดยตรง แต่เป็นสัญญาณของโรคอื่น เช่น นิ่วในถุงน้ำดี โรคตับ หรือแม้แต่โรคหัวใจ ซึ่งมักมีอาการปวดล้าๆ ร่วมกับอาการอื่นด้วย
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีอาการปวดไหล่ขวาและสะบักบ่า
อาการปวดไหล่ขวาและสะบักบ่านั้นมีลักษณะเฉพาะ แต่เราสามารถสังเกตแบบง่ายๆ ได้จากจากความรู้สึกและข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบนร่างกายของเราเอง ตัวเรารู้ดีสภาวะแบบไหนที่ร่างกายเราเป็นปกติ แบบไหนเจ็บปวด โดยการปวดนี้ ก็ต้องมาดูว่าเราปวดจุดไหน โดยแต่ละลักษณะสามารถบ่งบอกถึงสาเหตุที่แตกต่างกันได้
ความปวดเป็นจุด : มักรู้สึกปวดเฉพาะตำแหน่งชัดเจน เช่น ตรงมุมบนของสะบัก หรือกลางไหล่ด้านขวา อาจมีลักษณะเป็นจุดตึง หรือจุดกดเจ็บที่มีความรู้สึกเหมือนมีก้อนแข็งเมื่อกดสัมผัส มักเกิดจากกล้ามเนื้อตึงหรือกลุ่มจุด Trigger Points
ความปวดร้าว : มีลักษณะเป็นความเจ็บปวดที่แผ่กระจายจากจุดหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่ง เช่น ปวดจากไหล่แล้วร้าวลงไปที่ต้นแขนหรือขึ้นไปที่คอ มักพบในกรณีเส้นประสาทถูกกดทับหรือกล้ามเนื้ออักเสบรุนแรง
ความปวดตื้อๆ : อาการปวดแบบไม่เฉียบพลัน แต่รู้สึกไม่สบายตัว ปวดเมื่อยตลอดเวลา มักเกิดจากอิริยาบถไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน หรือความเครียดสะสม
ความปวดแบบแปล๊บๆ : ความเจ็บปวดฉับพลันเป็นช่วงสั้นๆ โดยเฉพาะเมื่อเคลื่อนไหวในบางท่าทาง อาจบ่งชี้ถึงการบาดเจ็บของเอ็นหรือข้อต่อ
การยกแขนลำบาก : ไม่สามารถยกแขนขึ้นเหนือศีรษะได้เต็มที่ หรือรู้สึกติดขัดเมื่อยกแขนในระดับต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงมุม 60-120 องศา อาจบ่งชี้ถึงว่าเกิดปัญหากับกล้ามเนื้อ Rotator Cuff เรา
อาการกระดิกหรือลั่นในข้อ : เมื่อเคลื่อนไหวไหล่อาจมีเสียงดังกรอบแกรบ หรือรู้สึกว่ามีการเสียดสีภายในข้อต่อ แสดงถึงความผิดปกติของพื้นผิวข้อต่อหรือเอ็นที่เสื่อมสภาพ
ความไม่มั่นคงของข้อไหล่ : รู้สึกว่าไหล่ไม่มั่นคง เหมือนจะหลุดหรือเคลื่อนเมื่อเคลื่อนไหวบางท่า อาจเป็นสัญญาณของข้อไหล่ไม่มั่นคงหรือเคยมีประวัติข้อไหล่หลุดมาก่อน
อาการปวดไหล่ขวาและสะบักบ่าแบบใดควรพบแพทย์
ปวดรุนแรงทันทีหลังได้รับบาดเจ็บ : อาการปวดที่เกิดขึ้นทันทีหลังอุบัติเหตุ หกล้ม หรือยกของหนัก อาจเป็นการบาดเจ็บของเอ็นหรือกล้ามเนื้อที่รุนแรง
มีอาการชาร่วมด้วย : ความรู้สึกชาหรือเสียวซ่าที่แผ่ลงไปตามแขนหรือมือ อาจบ่งชี้ถึงปัญหาการกดทับเส้นประสาท
ปวดร่วมกับมีไข้ : การมีไข้ร่วมกับอาการปวดไหล่รุนแรง อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในข้อไหล่หรือกระดูก
อาการปวดร้าวมาที่หน้าอก คอ หรือกราม : โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นร่วมกับเหงื่อออก หายใจลำบาก หรือคลื่นไส้ อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ควรรีบไปพบแพทย์หรือห้องฉุกเฉินทันที
สรุป
ก่อนไปวันนี้อยากจะแนะนำเพิ่มเติมว่าการสังเกตอาการและประเมินความผิดปกติด้วยตนเองเป็นขั้นตอนแรก แต่ไม่ใช่ว่าพอเรารู้แล้วว่าอาจจะไม่เป็นก็ได้ เลยเลือกที่จะรักษาด้วยตัวเอง หรือปล่อยๆ เฉยๆ ไปเลย มันจะเป็นอะไรที่อัตรายมากๆ หากเราไม่ไปพบแพทย์ หากเราประเมินความผิดปกติด้วยตัวเองอย่างไม่ถูกต้อง แล้วปล่อยให้ร่างกายเรารับสภาวะผิดปกติไปนานๆ สุดท้ายจะเกิดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ดังนั้นหากมีอาการอะไรแปลกๆ มาปรึกษาหมอจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด