อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา: สาเหตุ วิธีรักษา และป้องกัน
อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอเมื่อคุณเล่นกีฬา หรือออกกำลังกาย แม้คุณจะระวังตัวเป็นอย่างดีแค่ไหน แต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้ หรือแม้ไม่มีอุบัติเหตุ เราออกกำลังกาย เล่นกีฬาปกติ ก็มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บที่มาจากที่เราใช้ร่างกายเป็นอย่างหนัก ฉะนั้นแล้ววันนี้เราจึงพาทุกคนไปรู้จักกับ อาการและการรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
สาเหตุของอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากสภาพแวดล้อมภายนอกและความพร้อมของร่างกายผู้เล่นเอง โดยหลักๆ แล้วเราสามารถแบ่งออกเป็นสาเหตุหลักได้ดังต่อไปนี้
อุบัติเหตุหรือแรงกระแทก
อุบัติเหตุหรือแรงกระแทกเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา โดยเฉพาะในกีฬาที่มีการปะทะหรือมีความเสี่ยงสูง เช่น ฟุตบอล รักบี้ หรือมวย การหกล้มกระแทกพื้น การชนกับผู้เล่นคนอื่น หรือการโดนอุปกรณ์กีฬากระแทก สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงรุนแรง เช่น ฟกช้ำ แผลฉีกขาด กระดูกหัก หรือการบาดเจ็บของอวัยวะภายใน
การใช้ร่างกายเกินขีดจำกัด
การใช้ร่างกายหนักเกินไปหรือการออกกำลังกายซ้ำๆ เป็นเวลานานโดยไม่มีการพักฟื้นที่เพียงพอ เป็นสาเหตุสำคัญของการบาดเจ็บจากความเครียดสะสม (Overuse Injuries) กล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อที่ถูกใช้งานมากเกินไปจะเกิดการอักเสบและบาดเจ็บได้ เช่น กลุ่มอาการเอ็นอักเสบ (Tendinitis) เอ็นร้อยหวายอักเสบ (Achilles Tendinitis) หรือกระดูกเค้นจากความเครียด (Stress Fracture) โดยเฉพาะในนักกีฬาที่ฝึกซ้อมหนัก หรือเพิ่มความเข้มข้นของการฝึกซ้อมอย่างรวดเร็วเกินไป
เทคนิคท่าทางไม่ถูกต้อง
การใช้เทคนิคหรือท่าทางที่ไม่ถูกต้องในการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ โดยเฉพาะการบาดเจ็บเรื้อรัง การยกน้ำหนักผิดท่า การวิ่งด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้อง หรือการตีเทนนิสด้วยเทคนิคที่ผิด สามารถสร้างแรงกดทับที่ผิดปกติต่อข้อต่อและกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการอักเสบและบาดเจ็บได้ในระยะยาว
ขาดการเตรียมตัวที่เหมาะสม
การขาดการเตรียมความพร้อมร่างกายก่อนการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย เป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ การไม่อบอุ่นร่างกาย (Warm-up) ก่อนออกกำลังกายทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อไม่พร้อมรับแรงกระแทกหรือการเคลื่อนไหวที่รุนแรง การใช้อุปกรณ์กีฬาที่ไม่เหมาะสม ก็เป็นสาเหตุของการบาดเจ็บได้เช่นกัน นอกจากนี้ การไม่คูลดาวน์ (Cool-down) หลังการออกกำลังกาย ก็ทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้ผ่อนคลายและฟื้นตัวอย่างเหมาะสม ส่งผลให้เกิดอาการปวดเมื่อยและบาดเจ็บในระยะยาวได้
สภาพร่างกายไม่พร้อม
สภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรงหรือไม่พร้อมสำหรับกิจกรรมทางกายที่ต้องการ เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการบาดเจ็บ กล้ามเนื้อที่อ่อนแรง ความยืดหยุ่นที่ไม่เพียงพอ หรือการขาดความสมดุลในการทำงานของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ทำให้ร่างกายไม่สามารถรองรับแรงกระแทกหรือการเคลื่อนไหวที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคกระดูกพรุน โรคข้อเสื่อม หรือความผิดปกติของกระดูกสันหลัง ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาได้
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพสนาม
สภาพแวดล้อมในการเล่นกีฬาและออกกำลังกายมีผลต่อความเสี่ยงในการบาดเจ็บอย่างมาก พื้นสนามที่ขรุขระ ลื่น หรือแข็งเกินไป ทำให้เกิดการหกล้มหรือการบาดเจ็บจากแรงกระแทกได้ง่าย สภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือหนาวจัด ทำให้ร่างกายต้องทำงานหนักขึ้นและเสี่ยงต่อภาวะเครียดจากความร้อน (Heat Stress) หรือการบาดเจ็บจากความเย็น (Cold Injury) ก็ได้เช่นเดียวกันในเมืองหนาว
การฟื้นฟูไม่เพียงพอหลังการบาดเจ็บครั้งก่อน
การกลับมาเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเร็วเกินไปหลังจากได้รับบาดเจ็บ โดยที่ร่างกายยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เป็นสาเหตุสำคัญของการบาดเจ็บซ้ำซ้อนและการบาดเจ็บเรื้อรัง เนื้อเยื่อที่กำลังอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมมีความแข็งแรงน้อยกว่าปกติ ทำให้เสี่ยงต่อการบาดเจ็บซ้ำได้ง่าย
ประเภทของอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทตามลักษณะการเกิดและระยะเวลาของอาการ โดยทั่วไปแล้ว เราสามารถจำแนกอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ อาการบาดเจ็บเฉียบพลันและอาการบาดเจ็บเรื้อรัง ซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะและต้องการการดูแลรักษาที่แตกต่างกัน
อาการบาดเจ็บเฉียบพลัน (Acute Injuries)
อาการบาดเจ็บเฉียบพลันเป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นทันทีทันใดจากอุบัติเหตุหรือแรงกระแทก มักมีอาการปวด บวม และจำกัดการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน อาการบาดเจ็บประเภทนี้มักพบได้บ่อยในกีฬาที่มีการปะทะ การกระโดด หรือการเปลี่ยนทิศทางอย่างฉับพลัน อาการบาดเจ็บเฉียบพลันที่พบบ่อย ได้แก่
- ข้อเท้าพลิก : เกิดจากการที่เอ็นรอบข้อเท้ายืดหรือฉีกขาด มักเกิดเมื่อเท้าบิดหรือพลิกในท่าที่ผิดปกติ พบบ่อยในกีฬาประเภทบาสเกตบอล วอลเลย์บอล และฟุตบอล
- กล้ามเนื้อฉีกขาด : เกิดจากการออกแรงเกินขีดจำกัดของกล้ามเนื้อ ทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อเกิดการฉีกขาด บริเวณที่พบบ่อย ได้แก่ กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง กล้ามเนื้อน่อง และกล้ามเนื้อหลัง
- กระดูกหัก : เกิดจากแรงกระแทกรุนแรงหรือการตกกระแทกพื้น ทำให้กระดูกแตกร้าวหรือหักสะบั้น มีตั้งแต่กระดูกร้าวเล็กน้อยจนถึงกระดูกหักแบบเปิด (กระดูกทะลุผิวหนัง)
- ข้อต่อเคลื่อน : เกิดจากกระดูกข้อต่อเคลื่อนหลุดออกจากตำแหน่งปกติ พบได้ในข้อไหล่ ข้อนิ้วมือ และข้อศอก ทำให้เกิดอาการปวดรุนแรง บวม และไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อต่อได้
- เอ็นฉีกขาด : เช่น เอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกขาด มักเกิดในกีฬาที่ต้องหมุนตัวหรือกระโดด อย่างเช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล และสกี เป็นการบาดเจ็บที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนาน และบางกรณีอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
อาการบาดเจ็บเรื้อรัง (Chronic Injuries)
อาการบาดเจ็บเรื้อรังเป็นการบาดเจ็บที่ค่อยๆ เกิดขึ้นจากการใช้งานซ้ำๆ เป็นเวลานาน ไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุเฉียบพลัน แต่สะสมทีละน้อยจนกลายเป็นปัญหา อาการมักค่อยๆ รุนแรงขึ้น และอาจไม่ได้สังเกตเห็นในระยะแรกๆ อาการบาดเจ็บเรื้อรังที่พบบ่อย ได้แก่:
- เอ็นอักเสบ : เกิดจากการอักเสบของเอ็นที่ยึดกล้ามเนื้อกับกระดูก เช่น Tennis Elbow ที่พบในนักเทนนิสหรือผู้ที่ใช้งานแขนหนัก หรือ Jumper's knee ที่พบในนักกระโดดสูงหรือนักบาสเกตบอล
- อาการเจ็บหน้าแข้ง : เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และเยื่อหุ้มกระดูกบริเวณหน้าแข้ง มักพบในนักวิ่งระยะไกล นักบาสเกตบอล หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกายแบบกระแทก
- อาการปวดข้อจากการเสื่อม : เกิดจากการสึกหรอของกระดูกอ่อนที่หุ้มข้อต่อ พบบ่อยในนักกีฬาที่มีประวัติการบาดเจ็บที่ข้อต่อมาก่อน หรือเล่นกีฬาที่มีแรงกระแทกสูงเป็นเวลานาน เช่น นักฟุตบอล นักวิ่งมาราธอน
- ถุงน้ำในข้อต่ออักเสบ : เกิดจากการอักเสบของถุงน้ำ ซึ่งเป็นถุงที่มีของเหลวอยู่ระหว่างกล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูก พบได้บ่อยที่ข้อไหล่ ข้อศอก ข้อสะโพก และข้อเข่า ทำให้มีอาการปวด บวม และจำกัดการเคลื่อนไหว
- กระดูกเค้นจากความเครียด : เป็นรอยร้าวขนาดเล็กบนกระดูกที่เกิดจากแรงกระแทกซ้ำๆ มักพบในกระดูกเท้า กระดูกหน้าแข้ง และกระดูกสะโพก ในนักวิ่ง นักกระโดด หรือนักเต้น
แนวทางการรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น (RICE Principle)
หลักการ RICE เป็นวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับอาการบาดเจ็บเฉียบพลันที่ใช้กันทั่วไปสากล ซึ่งประกอบด้วย Rest (พักการใช้งาน), Ice (ประคบเย็น), Compression (พันผ้าพันแผล), และ Elevation (ยกสูง)
- Rest (พักการใช้งาน) : การพักผ่อนส่วนที่ได้รับบาดเจ็บเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันความเสียหายเพิ่มเติม ควรหลีกเลี่ยงการใช้หรือลงน้ำหนักบนส่วนที่บาดเจ็บในช่วง 48-72 ชั่วโมงแรก
- Ice (ประคบเย็น) : การประคบเย็นช่วยลดอาการปวดและบวมโดยทำให้หลอดเลือดหดตัว ควรใช้น้ำแข็งหรือเจลเย็นประคบบริเวณที่บาดเจ็บครั้งละ 15-20 นาที ทุก 2-3 ชั่วโมง ในช่วง 48-72 ชั่วโมงแรก ห่อด้วยผ้าขนหนูเพื่อป้องกันผิวหนังจากการสัมผัสความเย็นโดยตรง
- Compression (พันผ้าพันแผล) : การพันผ้าพันแผลช่วยลดอาการบวมและให้การสนับสนุนแก่ส่วนที่บาดเจ็บ ควรใช้ผ้ายืดพันบริเวณที่บาดเจ็บ โดยพันให้กระชับแต่ไม่แน่นจนเกินไป หากมีอาการชาหรือบวมมากขึ้น ควรรคลายผ้าพันแผล
- Elevation (ยกสูง) : การยกส่วนที่บาดเจ็บให้อยู่เหนือระดับหัวใจช่วยลดอาการบวมโดยการระบายของเหลวออกจากบริเวณที่บาดเจ็บ ควรยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้
การใช้ยาและการรักษาทางการแพทย์
- การใช้ยาและการรักษาทางการแพทย์ : นอกจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว การใช้ยาและการรักษาทางการแพทย์อาจมีความจำเป็นในบางกรณี ซึ่งจะเป็นการใช้ยาแก้อักเสบ (NSAIDs) ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน สามารถช่วยลดอาการปวดและบวมได้ (ควรใช้ยาเหล่านี้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร)
- การทำกายภาพบำบัด : นักกายภาพบำบัดจะสามารถออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมได้ตามปกติในเวลาที่กระชับยิ่งขึ้นได้
- การฉีดยาสเตียรอยด์หรือ PRP : ในกรณีของอาการบาดเจ็บเรื้อรัง การฉีดยาสเตียรอยด์หรือ Platelet-Rich Plasma (PRP) อาจเป็นทางเลือกในการรักษา สเตียรอยด์ช่วยลดการอักเสบ ในขณะที่ PRP ช่วยกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ (ควรพิจารณาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ)
- การผ่าตัด : ในกรณีที่อาการบาดเจ็บรุนแรง เช่น กระดูกหักที่ต้องการการจัดเรียงใหม่ หรือเอ็นฉีกขาด การผ่าตัดอาจเป็นสิ่งจำเป็น การผ่าตัดมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขความเสียหายและช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้งานส่วนที่บาดเจ็บได้
สรุป : เราจะป้องกันอาการบาดเจ็บอย่างไรได้บ้าง
แม้จะบอกว่าเราจะป้องกันอาการบาดเจ็บได้ 100% แต่อย่างน้อยเราก็สามารถลดความน่าจะเป็นที่อาจจะเกิดอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาได้โดยการใส่ใจในรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเล่นกีฬา เพื่อลดความเสี่ยงและเตรียมพร้อมร่างกายให้สามารถรับมือกับกิจกรรมทางกายได้อย่างปลอดภัย การอบอุ่นร่างกายและยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อนเล่นกีฬา หรือคูลดาวน์หลังการออกกำลังกาย
อยากให้เราการเรียนรู้และใช้เทคนิคที่ถูกต้องในการเล่นกีฬาแต่ละประเภท การเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับชนิดกีฬาและสรีระของตนเอง การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การพักผ่อนให้เพียงพอ การรักษาสภาพร่างกายให้พร้อมอยู่เสมอ และการดื่มน้ำให้เพียงพอ หากเราทำตามนี้สุดท้ายเราเราอาจจะเล่นกีฬาอย่างปลอดภัยยิ่งขึ้นได้ ขอให้ทุกคนมีร่างกายที่แข็งแรง แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้า
บทความโดย พญ. นาตยา อุดมศักดิ์
ผู้นำทีมแพทย์ ผู้นำนวัตกรรมรักษาความปวดระดับครบวงจร มาตรฐานนานาชาติ ให้แก่คนไทย และในภูมิภาค ประสบการณ์กว่า 17 ปี ผ่านการร่วมงานกับ โรงพยาบาลชั้นน้ำมาแล้ว