ยืดแขนไม่ได้ ร้าวลงบ่า กับ ปวดคอบ่าไหล่ แตกต่างกัน รักษาต่างกัน
อาการใกล้เคียงนี้มักถูกมองเป็นปัญหาเดียวกัน สำหรับอาการปวดคอบ่าไหล่ทั่วไปและอาการยืดแขนไม่ได้ ร้าวลงบ่า มีอาการเจ็บปวดในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน จึงมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปัญหาเดียวกัน จนนำไปสู่การรักษาที่ไม่ตรงจุด บางคนใช้วิธีนวดคลายกล้ามเนื้อ ทั้งที่จริงอาจต้องแก้ไขการกดทับเส้นประสาท แม้ว่าอาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกัน แต่ต้นเหตุของความเจ็บปวดอาจแตกต่างกัน เพื่อให้คุณสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม บทความวันนี้จึงพาทุกคนไปทำความรู้จักกับอาการทั้งคู่ให้ดียิ่งขึ้น ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร อาการเป็นอย่างไร และวิธีที่ใช้รักษาเป็นอย่างไร เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาที่ไม่ตรงจุด
อาการยืดแขนไม่ได้ ร้าวลงบ่าคืออะไร
อาการยืดแขนไม่ได้และร้าวลงบ่า มักเป็นอาการที่สัมพันธ์กับปัญหาในบริเวณคอที่ส่งผลต่อเส้นประสาท เป็นภาวะที่พบได้บ่อยและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้มีอาการมักมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวแขน ไม่สามารถยืดแขนได้เต็มที่ ร่วมกับอาการปวดร้าวจากบริเวณคอลงไปยังแขน บ่า หรือมือ ในบางครั้งยังอาจพบอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย โดยอาการมักเพิ่มมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวคอหรือแขน หรือในบางรายอาจมีอาการรุนแรงขึ้นในเวลานอน สาเหตุหลักเกิดจากการกดทับรากประสาทบริเวณคอ ส่งผลให้การส่งสัญญาณประสาทระหว่างสมองกับแขนผิดปกติ
สาเหตุของอาการยืดแขนไม่ได้ ร้าวลงบ่า
- หมอนรองกระดูกคอเคลื่อนกดทับรากประสาท : เกิดจากหมอนรองกระดูกคอเสื่อมหรือเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม กดทับเส้นประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและความรู้สึกของแขนกับมือ ส่งผลให้ปวดร้าว ชา อ่อนแรง และเคลื่อนไหวแขนได้ไม่เต็มที่
- ช่องสันหลังตีบแคบ : ภาวะที่ช่องกระดูกสันหลังส่วนคอตีบแคบลง กดเบียดเส้นประสาทหรือไขสันหลัง มักสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้นหรือการเสื่อมสภาพของกระดูกคอ ทำให้มีอาการปวดร้าวลงแขนร่วมกับกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- กระดูกคอเสื่อมรุนแรง : การเสื่อมของกระดูกคอตามวัยหรือการใช้งานหนัก ทำให้เกิดกระดูกงอกหรือข้อต่อคอไม่มั่นคง กดทับรากประสาท ส่งผลให้ปวดคอร้าวลงบ่าและแขน เคลื่อนไหวลำบาก
- การอักเสบหรือบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท : อาจเกิดจากอุบัติเหตุ ท่าทางผิดธรรมชาติ หรือการใช้งานซ้ำๆ เป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อคอและไหล่เกร็งตัว จนรั้งเส้นประสาทและจำกัดการเคลื่อนไหวแขน
- หมอนรองกระดูกเคลื่อนกดทับรากประสาทที่คอ : ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อหมอนรองกระดูกที่คอเคลื่อนตัวไปกดทับเส้นประสาทที่เลี้ยงแขนและมือ ทำให้เกิดอาการปวดร้าว ชา หรืออ่อนแรง ภาวะนี้มักเกี่ยวข้องกับโรคกระดูกคอเสื่อม
อาการปวดคอบ่าไหล่คืออะไร
อาการปวดคอบ่าไหล่ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย เกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมที่เราทำในประจำวัน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานออฟฟิศหรือมีพฤติกรรมที่ต้องอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน อาการปวดมักมีลักษณะปวดตื้อๆ บริเวณคอ บ่า และไหล่ อาจมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อจนทำให้รู้สึกคอติดหรือขยับลำบาก บางครั้งอาการจะดีขึ้นเมื่อได้พักผ่อนหรือปรับเปลี่ยนท่าทาง แต่อาจกลับมาเป็นใหม่ได้เมื่อทำกิจกรรมเดิมซ้ำๆ อาการปวดคอบ่าไหล่นี้ มักไม่มีอาการชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย
สาเหตุของอาการปวดคอบ่าไหล่
- กล้ามเนื้ออักเสบหรือตึงจากท่าทางผิดปกติ (Office Syndrome) : เป็นสาเหตุสำคัญของอาการปวดคอบ่าไหล่ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ท่าทางที่ไม่ถูกต้องขณะทำงาน เช่น การนั่งหลังค่อม การวางตำแหน่งคอมพิวเตอร์ไม่เหมาะสม หรือการใช้คอมพิวเตอร์นานเกินไป ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า และไหล่เกิดการอักเสบและตึงตัว
- ข้อต่อกระดูกสันหลังคอเสื่อม : เมื่อข้อต่อเล็กๆ ที่เชื่อมกระดูกสันหลังคอแต่ละข้อเกิดการเสื่อม อาจทำให้เกิดอาการปวดและเคลื่อนไหวลำบาก
- เส้นประสาทถูกกดจากกล้ามเนื้อเกร็ง : กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืดที่มักเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง ทำให้เกิดจุดกดเจ็บในกล้ามเนื้อและอาจกดทับเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง
อาการยืดแขนไม่ได้ร้าวลงบ่า กับปวดคอบ่าไหล่ทั่วไปต่างกันอย่างไร
อาการยืดแขนไม่ได้และมีอาการร้าวลงบ่า มักมีสาเหตุมาจากการที่เส้นประสาทถูกกดทับ ทำให้ต้องรักษาด้วยการทำหัตถการหรือผ่าตัด ในขณะที่อาการปวดคอบ่าไหล่ทั่วไปมักมีสาเหตุจากกล้ามเนื้อและข้อต่อที่เสื่อม ซึ่งรักษาได้ด้วยการปรับท่าทางและทำกายภาพบำบัด ดังนั้นการรักษาอาการยืดแขนไม่ได้ร้าวลงบ่าจึงเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุคือการกดทับเส้นประสาท ในขณะที่การรักษาอาการปวดคอบ่าไหล่ทั่วไปจะเน้นที่การรักษากล้ามเนื้อและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ประเด็น |
ยืดแขนไม่ได้ ร้าวลงบ่า |
ปวดคอบ่าไหล่ |
ตำแหน่งของอาการ |
ร้าวลงแขน บ่า และมือ |
ปวดตึงเฉพาะบริเวณคอบ่าไหล่ |
ลักษณะของความปวด |
ปวดแปล๊บ ชา อ่อนแรง |
ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อเกร็ง |
สาเหตุหลัก |
หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท |
กล้ามเนื้อและเยื่อพังผิดอักเสบ |
การรักษาหลัก |
ยา กายภาพ ฉีดยาสเตียรอยด์ ผ่าตัดในรายรุนแรง |
กายภาพบำบัด ปรับเปลี่ยนท่าทาง ฝังเข็ม |
การรักษาอาการยืดแขนไม่ได้ร้าวลงบ่า และปวดคอบ่าไหล่ทั่วไป
อาการยืดแขนไม่ได้ร้าวลงบ่า
การใช้ยา
- แพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ (NSAIDs) ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยากลุ่มที่ช่วยลดอาการปวดเส้นประสาท เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการอักเสบ
กายภาพบำบัด
- การออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อ : ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและลดแรงกดทับบริเวณกระดูกคอ
- การดึงคอ (Traction) : ช่วยเพิ่มช่องว่างระหว่างกระดูกสันหลัง ลดแรงกดทับเส้นประสาท
- การใช้คลื่นวิทยุความถี่สูงระงับความปวด : ช่วยบรรเทาอาการปวดโดยไม่ต้องผ่าตัด
หัตถการทางการแพทย์
- การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าช่องสันหลัง : ในกรณีที่อาการปวดรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาหรือกายภาพบำบัด แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์เข้าช่องกระดูกสันหลังเพื่อลดการอักเสบของรากประสาท
- การผ่าตัด : การผ่าตัดมักเป็นทางเลือกสุดท้ายในกรณีที่อาการรุนแรงมาก มีการอ่อนแรงของแขน หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ การผ่าตัดอาจเป็นการผ่าตัดเพื่อนำหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทออก
การรักษาอาการปวดคอบ่าไหล่ทั่วไป
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : การปรับเปลี่ยนท่าทางในการทำงานให้ถูกต้องตามหลัก Ergonomics เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันและรักษาอาการปวดคอบ่าไหล่ ควรจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม โดยใช้เก้าอี้และโต๊ะที่รองรับสรีระ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ ควรมีการพักและเปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ
- กายภาพบำบัด : กายภาพบำบัดสามารถลดอาการปวดและฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อ อาจประกอบด้วยการประคบร้อนหรือเย็น การนวดผ่อนคลาย การยืดกล้ามเนื้อ การใช้เครื่องมือทางกายภาพเพื่อลดอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อได้
- การออกกำลังกาย : การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า และไหล่เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันอาการปวด ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นการยืดเหยียดกล้ามเนื้อและการเสริมสร้างความแข็งแรง
- หัตถการ : ในบางกรณี แพทย์อาจพิจารณาทำหัตถการเพิ่มเติม เช่น การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อต่อกระดูกสันหลัง (Facet Joint Injection) ในกรณีที่มีข้อต่อเสื่อม หรือการใช้คลื่นวิทยุระงับปวด (Radiofrequency Neurotomy) เพื่อลดการส่งสัญญาณความปวด
อาการอย่างไรเราควรพบแพทย์?
เมื่อเผชิญกับอาการปวดตามคอบ่าไหล่และเราดูแลรักษาเบื้องต้นไม่ได้ผล ใช้เวลานานก็ไม่ดีขึ้น แม้จะปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวันแล้ว เราควรพบแพทย์เพราะอาจมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นได้ หากเราวินิจฉัยเองว่าเรามีปวดคอบ่าไหล่ทั่วไป และเลือกวิธีรักษาด้วยตัวเอง สุดท้ายแล้วอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ดังนั้นเราควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เนื่องจากอาการที่คล้ายคลึงกันอาจมีสาเหตุและการรักษาที่แตกต่างกัน การวินิจฉัยและการรักษาที่ไม่ตรงจุดอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น โรงพยาบาลเซเปี้ยนซ์แนะนำว่าการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสม