แชร์

อย่าปล่อยให้มือชา เท้าชา ทำลายชีวิต! รู้ทันภาวะปลายประสาทเลื่อมก่อนสาย

อัพเดทล่าสุด: 17 มี.ค. 2025

     ภาวะปลายประสาทเสื่อม (Peripheral Neuropathy) ภาวะที่เส้นประสาทส่วนปลายได้รับความเสียหาย ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ชา ปวด แสบร้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือสูญเสียความสามารถในการรับรู้ความรู้สึก โดยเฉพาะบริเวณมือและเท้า

ประเภทของภาวะปลายประสาทเสื่อม
     ภาวะปลายประสาทเสื่อมสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับจำนวนเส้นประสาทที่ได้รับผลกระทบ และสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหาย

1. Mononeuropathy (เส้นประสาทเสื่อมแบบเดี่ยว)

     เป็นภาวะที่มีเส้นประสาทเพียงเส้นเดียวที่ได้รับผลกระทบ สาเหตุอาจเกิดจากการบาดเจ็บโดยตรง การกดทับของเส้นประสาท หรือเลือดไหลเวียนไม่เพียงพอไปเลี้ยงเส้นประสาทตัวอย่างของ Mononeuropathy ได้แก่:

  • โรคพังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ (Carpal tunnel syndrome)
  • เส้นประสาทรักแร้ได้รับความเสียหายจากการเคลื่อนของไหล่
  • การบาดเจ็บของเส้นประสาทจากการใช้ไม้เท้า
  • อาการจากรังสีรักษาที่ทำให้เส้นประสาทเสียหาย

2. Polyneuropathy (เส้นประสาทเสื่อมแบบหลายเส้น) 

     เป็นภาวะที่เส้นประสาทหลายเส้นในร่างกายได้รับผลกระทบพร้อมกัน มักเกิดจากโรคที่ส่งผลต่อร่างกายโดยรวม เช่น เบาหวานหรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง

     สาเหตุของ Polyneuropathy ได้แก่:

  • ภาวะเส้นประสาทเสื่อมจากเบาหวาน
  • ภาวะเส้นประสาทเสื่อมจากแอลกอฮอล์
  • การติดเชื้อ เช่น โรคไลม์ ตับอักเสบซี และเอชไอวี
  • การขาดวิตามินบี 12
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เช่น โรคลูปัส หรือกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร
  • อาการปวดประสาทหลังเป็นงูสวัดโรคมะเร็งบางชนิดที่ส่งผลต่อเส้นประสาท
3. Mononeuritis Multiplex (เส้นประสาทเสื่อมแบบหลายเส้นแยกกัน)  เป็นภาวะที่เส้นประสาทหลายเส้นในร่างกายได้รับผลกระทบแต่ไม่ได้กระจายทั่วร่างกายเหมือน polyneuropathy

สาเหตุที่พบได้ ได้แก่:
  • โรคเบาหวาน
  • โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง เช่น โรคลูปัส หรือโรครูมาตอยด์
  • การอักเสบของหลอดเลือดที่ทำให้เกิดภาวะเส้นประสาทเสื่อม

อาการของภาวะปลายประสาทเสื่อม
   ภาวะปลายประสาทเสื่อมสามารถส่งผลต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน ได้แก่:

  • เส้นประสาทรับความรู้สึก: อาการได้แก่ ปวดแปล๊บ ชา รู้สึกเหมือนมีเข็มแทง รู้สึกไวต่อความเจ็บปวด
  • เส้นประสาทสั่งการกล้ามเนื้อ: อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ตะคริว กล้ามเนื้อลีบ หรือมีปัญหาการเดิน
  • เส้นประสาทอัตโนมัติ: อาจส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะภายใน เช่น ความดันโลหิตผิดปกติ ปัญหาการขับถ่าย หรือสมรรถภาพทางเพศลดลง

การวินิจฉัยภาวะปลายประสาทเสื่อม 

การวินิจฉัยประกอบด้วย:

  • การตรวจร่างกายและระบบประสาท เพื่อตรวจหาความผิดปกติของกล้ามเนื้อ การตอบสนองของเส้นประสาท และการทรงตัว
  • การตรวจเลือด เพื่อหาสาเหตุที่เป็นไปได้ เช่น เบาหวาน การติดเชื้อ หรือภาวะขาดวิตามิน
  • การตรวจเส้นประสาท เช่น การวัดการนำกระแสประสาท (NCV) และการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (EMG)
  • การตรวจทางรังสี : MRI (Magnetic Resonance Imaging) สามารถตรวจหาภาวะเส้นประสาทถูกกดทับ เนื้องอก หรือปัญหาภายในอื่น ๆ ได้ แม้ว่าจะไม่พบบ่อย แต่ MRI ที่แขนหรือขาก็อาจช่วยระบุการกดทับของเส้นประสาทได้ CT (Computed Tomography) ใช้ตรวจภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อน การตีบแคบของโพรงกระดูกสันหลัง เนื้องอก และความผิดปกติของกระดูก หรือหลอดเลือดที่ส่งผลต่อเส้นประสาท
  • การตรวจทางพันธุกรรม : อาจใช้ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคเส้นประสาทส่วนปลายที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • การตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น การเจาะน้ำไขสันหลังหากสงสัยโรคกิลแลง-บาร์เร
การรักษา
     การรักษาสาเหตุพื้นฐาน: เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยเบาหวาน

     1. การใช้ยา
  • ยาบรรเทาปวดที่ไม่ใช่โอปิออยด์: เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
  • ยากันชัก: เช่น กาบาเพนติน (Gabapentin), พรีกาบาลิน (Pregabalin) และ มิโรกาบาลิน(Mirogabalin)
  • ยาต้านอาการซึมเศร้า: เช่น อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) หรือเวนลาฟาซีน (Venlafaxine)
  • ยาทาเฉพาะที่: เช่น ครีมแคปไซซิน (Capsaicin) หรือแผ่นแปะลิโดเคน (Lidocaine)
  • การใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioids):

      - สำหรับอาการปวดปานกลาง: ทรามาดอล(Tramadol) หรือโคเดอีน (Codeine)

      - สำหรับอาการปวดรุนแรง: มอร์ฟีน (Morphine), ออกซีโคโดน(Oxycodone), เฟนทานิล          (Fentanyl) หรือเมทาโดน (Methadone)
     การใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการติดยาและผลข้างเคียงอื่น ๆ


    2. หัตถการทางการแพทย์ (Pain Intervention)

  • การฉีดยาเข้าโพรงประสาท (Epidural Injection): ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปในโพรงไขสันหลังเพื่อบรรเทาอาการปวด
  • การใช้คลื่นวิทยุระงับปวด (Radiofrequency Ablation - RFA): ใช้กระแสไฟฟ้าสร้างความร้อนเพื่อทำลายเส้นประสาทที่นำความปวด
  • การบล็อกระบบประสาทอัตโนมัติ (Sympathetic Nerve Block): ฉีดยาชาหรือสารทำลายเส้นประสาทบริเวณโซ่ประสาทซิมพาเทติก
  • การกระตุ้นไขสันหลัง (Spinal Cord Stimulation - SCS): ใส่ขั้วไฟฟ้าเข้าไปในช่องไขสันหลังเพื่อปรับสัญญาณความปวด
  • การให้ยาแบบเจาะจงทางไขสันหลัง (Intrathecal Targeted Drug Delivery): ใช้ปั๊มส่งยาเข้าไขสันหลังโดยตรง

สรุป

    ภาวะปลายประสาทเสื่อมเกิดจากความเสียหายของเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการปวด ชา อ่อนแรง หรือความผิดปกติของอวัยวะภายใน สาเหตุหลัก ได้แก่ เบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง และพิษจากสารเคมี

    การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุ ตั้งแต่การใช้ยา กายภาพบำบัด จนถึงหัตถการระงับปวด (Pain Interventions) ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทั่วไป เพื่อบรรเทาอาการและพัฒนาคุณภาพชีวิต


บทความที่เกี่ยวข้อง
ปวดหลังจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท
ความหวังใหม่ของผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังจาก หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ซึ่งไม่จำเป็นต้องผ่าตัดซ้ำ ทางเลือกใหม่ช่วยขจัดพังผืด ลดปวดได้ตรงจุด
18 เม.ย. 2025
ผู้หญิงสาววัยกลางคนมีอาการปวดหัวเรื้อรัง
ปวดหัวเรื้อรังและไมเกรน รักษาด้วยหัตถการ เช่น การบล็อกเส้นประสาท และการจี้ด้วยคลื่นวิทยุ ช่วยบรรเทาอาการปวดอย่างตรงจุดและลดการใช้ยาในระยะยาว
19 เม.ย. 2025
ผู้หญิงกำลังนั่งอยู่ที่โซฟามีอาการปวดท้องน้อย
ปวดท้องน้อยเรื้อรังอาจเกิดจากโรคทางนรีเวช ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือระบบประสาท รู้จักสาเหตุ อาการ และแนวทางการรักษาที่เหมาะสมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
18 เม.ย. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy