แชร์

ปวดหลัง สาเหตุ วิธีรักษา และการป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ

อัพเดทล่าสุด: 8 เม.ย. 2025

     เคยไหม? ตื่นเช้ามาพร้อมกับความทรมานที่หลังตึงแข็งจนลุกไม่ไหว ต้องฝืนตัวไปทำงานทั้งที่ร่างกายเหมือนจะพัง อยากลาป่วยมากๆ คุณไม่ใช่คนเดียว! ในยุคที่ไลฟ์สไตล์แบบนั่งติดเก้าอี้-ก้มจ้องสมาร์ทโฟน อาการ ปวดหลัง คือศัตรูเงียบที่คืบคลานทำลายคุณภาพชีวิตแบบไม่รู้ตัว และอาจเป็นสัญญาณว่าคุณกำลังเข้าข่าย มนุษย์ปวดหลัง แล้ว! บทความนี้จะพาคุณทำความรู้จักกับ ต้นตอของอากาปวดหลังที่อาจมาจากนิสัยประจำวันที่คุณไม่ทันระวัง สาเหตุของอาการปวดหลัง และวิธีการรักษา และที่สำคัญ เราจะบอกคุณเองว่าอาการแบบไหนที่อันตรายถึงขั้นต้องรีบพบแพทย์ก่อนจะสายเกินแก้ พร้อมแล้วไปดูกันเลย

 

มารู้จักอาการและประเภทของการปวดหลัง

ทำไมบางคนบ่นปวดต้นคอ บางคนปวดเอว แต่บางคนกลับปวดทั่วทั้งหลัง? นั่นเป็นเพราะอาการปวดหลังมีหลากหลายรูปแบบ แต่ละแบบก็มาพร้อมกับความทรมานที่แตกต่างกันไป มาทำความรู้จักกับอาการปวดหลังแต่ละประเภทกันดีกว่า เผื่อวันไหนคุณเจอเข้า จะได้รู้ว่าควรจัดการยังไง โดยเราจะแบ่งอาการปวดหลังเป็น 4 รูปแบบดังนี้

อาการปวดหลังส่วนบน

ถ้าคุณรู้สึกปวดตึงบริเวณต้นคอไปจนถึงกลางหลัง นี่แหละคืออาการปวดหลังส่วนบน ศัตรูตัวร้ายของคนทำงานออฟฟิศที่ต้องนั่งจ้องคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ความเครียดและท่าทางที่ไม่ถูกต้องมักเป็นตัวการสำคัญ บางครั้งอาจรู้สึกเหมือนมีก้อนแข็งๆ ที่บ่า หรือปวดร้าวไปถึงศีรษะ จนทำให้รู้สึกอึดอัดและทำงานไม่สะดวก

อาการปวดหลังส่วนล่าง

ปวดเอว ปวดหลังส่วนล่าง หรือเรียกว่า Low Back Pain อาการมักจะปวดตื้อๆ บริเวณเอวลงไปถึงก้น บางคนถึงขั้นปวดร้าวลงขา ยิ่งถ้านั่งนานๆ หรือยกของหนักไม่ถูกวิธี อาการก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น ทำให้การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันกลายเป็นเรื่องยาก

อาการปวดหลังเฉียบพลัน

เมื่อเราเช้ามาแล้วปวดหลังจู่ๆ หรือปวดทันทีหลังยกของหนัก? นี่คืออาการปวดหลังเฉียบพลัน ที่มักเกิดขึ้นทันทีและรุนแรง แต่ข่าวดีคือมักหายได้ภายใน 4-6 สัปดาห์หากได้รับการดูแลที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม อย่าชะล่าใจ เพราะถ้าปล่อยไว้หรือดูแลไม่ถูกวิธี อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังได้

อาการปวดหลังแบบเรื้อรัง

หากปวดต่อเนื่องเกิน 3 เดือน แม้จะทานยาหรือนวดแล้วก็ไม่ดีขึ้น อาจเป็นตัวชี้ว่าเกิดความผิดปกติของโครงสร้างร่างกาย เช่น กระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกแตก หรือแม้แต่เนื้องอกที่ซ่อนอยู่ในช่องกระดูกสันหลัง

สาเหตุหลักของอาการปวดหลังโดยส่วนใหญ่

อาการปวดหลังไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่มีสาเหตุที่หลากหลายและซับซ้อน แต่ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุที่สะสมมาจากพฤติกรรมประจำวันหรือภาวะสุขภาพ ตั้งแต่ปัจจัยทางกายภาพไปจนถึงปัจจัยทางจิตใจ การทำความเข้าใจถึงต้นตอของปัญหาจะช่วยให้เราสามารถป้องกันได้อย่างตรงจุด โดยสามารถแบ่งปัจจัยกระตุ้นได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ดังนี้

ปัจจัยทางกายภาพ

  • ท่าทางไม่เหมาะสม : การนั่งทำงานนานๆ ในท่าเดิม การโน้มตัวใช้สมาร์ทโฟนติดต่อกัน หรือแม้แต่การใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ ส่งผลให้กล้ามเนื้อและข้อต่อรับน้ำหนักไม่สมดุล เกิดการกดทับเส้นประสาทและความเมื่อยล้าสะสม
  • การบาดเจ็บกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น : มักเกิดจากการยกของหนักผิดท่า การออกกำลังกายหักโหมเกินกำลัง หรืออุบัติเหตุกระแทก ทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาด เนื้อเยื่ออักเสบ และปวดรุนแรงฉับพลัน
  • ปัญหาโครงสร้างกระดูกและข้อ : เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จากความเสื่อมหรือแรงกดซ้ำๆ กระดูกสันหลังเสื่อม ที่พบในผู้สูงอายุ หรือภาวะ กระดูกคด (Scoliosis) ซึ่งส่งผลต่อการกระจายน้ำหนักตัว

ปัจจัยด้านไลฟ์สไตล์

  • พฤติกรรมเนือยนิ่ง : การนั่งติดโต๊ะทำงานนานเกินไปโดยไม่ขยับตัว ทำให้กล้ามเนื้อแข็งตึง ระบบไหลเวียนเลือดลดลง และเพิ่มแรงดันต่อกระดูกสันหลัง
  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน : ไขมันสะสมบริเวณหน้าท้องจะเพิ่มแรงกดทับบนกระดูกสันหลังส่วนล่าง โดยเฉพาะในผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) เกินระดับปกติไปมากๆ
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ : การใช้หมอนหนุนศีรษะสูงเกินไปหรือเตียงนอนไม่รองรับสรีระ ทำให้ร่างกายไม่ได้รับการฟื้นฟูเต็มที่ระหว่างหลับ

โรคหรือภาวะสุขภาพ

  • โรคข้ออักเสบ (Arthritis) : การอักเสบของข้อต่อกระดูกสันหลังทำให้เคลื่อนไหวลำบากและปวดเรื้อรัง
  • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) : ความหนาแน่นกระดูกลดลง เสี่ยงต่อการยุบตัวของกระดูกสันหลัง
  • ไตอักเสบหรือนิ่วในไต : มักมีอาการปวดร้าวจากบริเวณสีข้างไปถึงหลังส่วนล่าง
  • การติดเชื้อหรือเนื้องอก : แม้พบไม่บ่อย แต่หากมีอาการปวดร่วมกับไข้หรือน้ำหนักลดผิดปกติ ต้องรีบตรวจหาสาเหตุ

ปัจจัยทางจิตใจ

ความเครียดและวิตกกังวลที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณหลังและคอเกร็งตัวโดยไม่รู้ตัว หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังได้

วิธีรักษาอาการปวดหลัง

การดูแลตนเองเบื้องต้น

สำหรับอาการปวดหลังในระยะแรกหรือกรณีที่มีความรุนแรงไม่มาก การดูแลตนเองอย่างถูกวิธีสามารถบรรเทาอาการได้ โดยเริ่มจากการประคบร้อนหรือเย็น โดยในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังเกิดอาการ ให้ใช้การประคบเย็นเพื่อลดการอักเสบ หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นการประคบร้อนเพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อ ร่วมกับการรับประทานยาแก้ปวด ยาพาราเซตามอล ทั้งนี้ควรพักการใช้งานหลังในท่าที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าที่เพิ่มแรงกดทับบริเวณหลัง

การรักษาทางการแพทย์

เมื่ออาการปวดหลังมีความรุนแรงหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น เราแนะนำให้เข้ารับการรักษาทางการแพทย์ โดยแพทย์อาจพิจารณาส่งผู้ป่วยเข้ารับการกายภาพบำบัด ซึ่งประกอบด้วยการดึงกระดูก การฝึกท่าบริหารเฉพาะทาง และการใช้อุปกรณ์กระตุ้นกล้ามเนื้อ ในกรณีที่มีอาการปวดรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาฉีดหรือยาคลายกล้ามเนื้อ และหากพบความผิดปกติของโครงสร้างกระดูกสันหลัง เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท การผ่าตัดอาจเป็นทางเลือกที่จำเป็น

การรักษาทางเลือก

นอกเหนือจากการรักษาแผนปัจจุบัน เราอาจะเข้ารับการรักษาทางเลือก ประกอบกับการรักาษาแบบทางการแพทย์ ไม่ว่าจะการนวดไทยและการนวดกดจุด ซึ่งต้องทำการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อคลายกล้ามเนื้อที่ตึงตัว หรือจะเป็นการฝังเข็มโดยแพทย์แผนจีนช่วยบรรเทาอาการปวดและปรับสมดุลพลังงานในร่างกาย ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรักษาใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ประกอบกับการรับการรักษาโดยแผนปัจจุบัน

การฟื้นฟูร่างกาย

การฟื้นฟูร่างกายเป็นขั้นตอนสำคัญในการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของอาการปวดหลัง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลาง เช่น ท่าแพลงก์ จะช่วยให้หลังแข็งแรงขึ้นได้เช่นกัน


วิธีป้องกันอาการปวดหลังที่เราสามารถทำได้เอง

การป้องกันอาการปวดหลังเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตนเอง โดยเริ่มจากการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสม (Ergonomics) โดยปรับระดับความสูงของเก้าอี้และโต๊ะให้สัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ ใช้อุปกรณ์เสริมอย่างแผ่นรองข้อมือและที่รองเท้า

การออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังและแกนกลางลำตัวก็เป็นสิ่งที่เราแนะนำให้คุณทำด้วยตัวเอง ซึ่งหากจะสะดวกที่สุดคือการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอโดยเน้นไปที่การลดแรงกระแทก เช่น ว่ายน้ำหรือเดินเร็ว และเพิ่มเติมด้วยการดูแลสุขภาพองค์รวม ไม่ว่าจะการควบคุมน้ำหนัก การรับประทานอาหารเสริมที่มีแคลเซียม วิตามินดี และแมกนีเซียม ตลอดจนการนอนหลับอย่างถูกวิธี

สุดท้าย การตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะการตรวจความหนาแน่นของกระดูกในผู้สูงอายุ และการพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น อาการชาร้าวลงขาหรือควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย

อาการปวดหลังแบบไหนที่เราควรไปพบแพทย์?

แม้อาการปวดหลังส่วนใหญ่สามารถบรรเทาได้ด้วยการปรับพฤติกรรมหรือดูแลตนเองเบื้องต้น แต่หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการ รักษาอาการปวดหลัง ที่เหมาะสมทันที ได้แก่ ปวดต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ แม้พักผ่อนหรือรับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น ปวดรุนแรงจนขยับตัวไม่ได้ หรือมีอาการชาร้าวลงขา ลงแขน ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงการกดทับเส้นประสาท และหากเรามีอาการปวดร่วมกับไข้สูง หนาวสั่น น้ำหนักลดผิดปกติ อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือโรคภายใน เช่น โรคไต ในกรณีที่มีอาการปวดหลังหลังประสบอุบัติเหตุรุนแรง หรือพบภาวะกลั้นปัสสาวะ/อุจจาระไม่อยู่ร่วมด้วย ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยอย่างเร่งด่วน เพราะอาจเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบประสาทหรือกระดูกสันหลังที่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีเฉพาะทาง

สรุป

หลายคนมักเข้าใจผิดว่าอาการปวดหลังเป็นเรื่องที่ต้องทนอยู่กับมันไปตลอดชีวิต หรือเชื่อว่าการนอนนิ่งๆ บนเตียงแข็งๆ คือทางออกที่ดีที่สุด แต่ความจริงแล้ว การดูแลสุขภาพของหลังเรา ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด และไม่จำเป็นต้องทนทรมานไปตลอดชีวิต เราจึงเขียนบทความวันนี้เพื่อให้คุณได้เข้าใจสาเหตุและวิธีจัดการที่ถูกต้องเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาและป้องกัน หลักๆ แล้วเพียงแค่เราใส่ใจกับสัญญาณที่ร่างกายส่งมา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน และไม่ละเลยการดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ คุณก็สามารถมีหลังที่แข็งแรง พร้อมรับมือกับทุกความท้าทายในชีวิตได้อย่างมั่นใจ เพราะชีวิตที่ปราศจากความเจ็บปวด คือชีวิตที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง


บทความที่เกี่ยวข้อง
ผู้หญิงกำลังปวดหลัง
อาการปวดหลังอาจเป็นสัญญาณของโรคแทรกซ้อนในร่างกาย ตรวจสอบประเภทและระดับความเสี่ยงของปัญหาหลัง พร้อมวิธีการดูแลป้องกันเบื้องต้น
13 ก.พ. 2025
ปวดหลังไม่ควรมองข้าม
อาการปวดหลังบ่อยอาจเป็นมากกว่าแค่ความไม่สบายตัว รู้ไหมสาเหตุที่แท้จริง อาจบอกถึงปัญหาสุขภาพที่อาจเป็นเรื่องใหญ่และร้ายแรงกว่าที่คิดได้
3 ก.พ. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy